ชุมชนปลอดบุหรี่


องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นกุญแจสำคัญสู่ท้องถิ่นปลอดบุหรี่ ซึ่งการบริการสาธารณะเป็นพันธกิจหนึ่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีทั้งศักยภาพและทรัพยากร จึงเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะขับเคลื่อนงานควบคุมการบริโภคยาสูบเพื่อสร้างสังคมปลอดบุหรี่ อันจะส่งผลดีต่อการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ที่รับผิดชอบ ทั้งนี้ จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ.2564 พบว่า คนสูบบุหรี่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชนบทมากกว่าในเมือง โดยคนสูบบุหรี่นอกเขตเทศบาลคิดเป็น 19.0% และในเขตเทศบาล 15.6% อีกทั้ง พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัด และกำหนดให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายในเขตจังหวัดซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง จำนวน 3 คน ร่วมเป็นกรรมการเพื่อขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบในจังหวัดอีกด้วย

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จึงมีภารกิจสำคัญหนึ่งในการส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมขับเคลื่อนงานควบคุมการบริโภคยาสูบระดับพื้นที่ โดยวางแผนการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง ผ่านยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนตามกฎบัตรออตตาวา ซึ่งการทำงานควบคุมการบริโภคยาสูบในท้องถิ่น เป็นการขับเคลื่อนงานที่มีประสิทธิภาพ และจะนำไปสู่การลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ในพื้นที่ที่ยังมีอยู่สูงในที่สุด

โดยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการสนับสนุนงานควบคุมการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อวันที่ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือ และความเข้าใจร่วมกัน ในการสนับสนุนงานควบคุมการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ รวมถึงสร้างกระแส ความตื่นตัว การขับเคลื่อนงานควบคุมการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และได้บรรจุให้การดำเนินการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นเกณฑ์การประเมินหนึ่งในการประเมินประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Local Performance Assessment: LPA) ประจำปี 2565 ด้านที่ 4 การบริการสาธารณะ