บุหรี่กับเยาวชน


     การแก้ปัญหาสุขภาพจากการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ต้องให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องใน 2 เรื่องคือ การช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่แล้วให้เลิกสูบบุหรี่ และรณรงค์ป้องกันไม่ให้เยาวชนไปเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า จากการสำรวจสถานการณ์การสูบบุหรี่ของเด็กและเยาวชน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ 2564 พบว่า จากจำนวนประชากร อายุ 15 ปีขึ้นไปทั้งสิ้น 57 ล้านคน เป็นผู้สูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน หรือ ร้อยละ 17.4 โดย กลุ่มอายุ 25-44 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่สูงสุด คือ  ร้อยละ 21.0 ซึ่งข้อมูลผลการสำรวจ ยังพบว่า 60.8% ของนักสูบหน้าใหม่ เป็นผู้ที่มีอายุ ระหว่าง 15 – 19 ปี สูงถึง 9.5 แสนคน ซึ่งในจำนวน 10 คนที่ติดบุหรี่ 7 คนจะเลิกไม่ได้ตลอดชีวิต ส่วน 3 คน เลิกได้ แต่จะติดบุหรี่เฉลี่ยกว่า 20 ปี จำนวนตัวเลขเหล่านี้ยังไม่นับรวมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากกลยุทธ์บริษัทบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงเครือข่ายผู้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ที่พยายามโฆษณาหลอกล่อเด็กและเยาวชน และที่น่าเป็นห่วงคือ แนวโน้มการสูบบุหรี่กลับสูงขึ้นในกลุ่มเยาวชนและสตรี ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทบุหรี่ได้พัฒนาเทคนิคการตลาด รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด เพื่อหาลูกค้ารายใหม่ จำนวนอย่างน้อย 100,000 คนในแต่ละปี ทดแทนผู้สูบบุหรี่ที่เลิกสูบหรือเสียชีวิต และจากสถิติที่พบว่า เยาวชนกลุ่มอายุ 15-18 ปี หรืออายุน้อยกว่านี้ มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่วงจรการเสพติดบุหรี่ ดังนั้น การป้องกันนักสูบหน้าใหม่จึงเป็นมาตรการที่สำคัญยิ่ง และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีครู ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในการปลูกฝังค่านิยมที่ไม่สูบบุหรี่  ทัศนคติที่ถูกต้อง และสร้างการเห็นคุณค่าในตัวเองให้แก่เยาวชน ทำให้เยาวชนยืนยันที่จะไม่สูบบุหรี่ไปตลอดชีวิต