2566 จะลดภาระงานหมอ รัฐต้องสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพจริงจัง เพื่อลดจำนวนคนที่จะป่วย





จะลดภาระงานหมอ รัฐต้องสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพจริงจัง เพื่อลดจำนวนคนที่จะป่วย

เหตุจูงใจที่ทำให้ผมเขียนบทความนี้

     หนึ่ง คือได้อ่านที่คุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์ เขียนถึงรัฐบาลที่จะมาใหม่ ว่า “การแพทย์ของเราที่มุ่งด้านการรักษา ค่าใช้จ่ายสูง และไม่ใช่ว่าจะได้ผลกับโรคสมัยใหม่ที่เป็น ๆ กัน เราต้องกลับมาเดินในทิศทางส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยการสนับสนุนให้ประชาชนมีความสามารถในการสร้างเสริมสุขภาพของตัวเอง จัดการปัจจัยเสี่ยงสุขภาพด้วยตัวเอง หากเราไม่รีบแก้ไข ระบบปัจจุบันจะพาเราไปสู่ความ (ฉิบหาย)” ผมเห็นด้วยกับคุณหมอสันต์ครับ

     สอง คือ กระแสข่าวครึกโครมขณะนี้ ที่หมอจบใหม่ลาออกจากโรงพยาบาลของรัฐ เพราะงานหนัก คนไข้ล้นโรงพยาบาล ซึ่งเป็นมาเรื้อรังแล้ว

ในความเห็นของผม ทั้ง 2 กรณีนี้ มีความเกี่ยวเนื่องกัน

     ปัญหาที่คุณหมอสันต์เขียนถึงและการชี้ทางออก เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแคนาดา เมื่อราว ค.ศ.1970 ที่แคนาดามีการแพทย์ที่ดีในระดับต้น ๆ ของโลก แต่ต่างกับประเทศไทย ที่เขามีจำนวนแพทย์ พยาบาลและเตียงรองรับผู้ป่วยที่เพียงพอ 

     แต่ก็ยังไม่สามารถลดการเจ็บป่วยและตายก่อนเวลาของประชากรจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพ เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง โรคปอดเรื้อรังและมะเร็ง จากการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา กินอาหารไม่ถูกต้อง รวมทั้งอุบัติเหตุจราจร ขณะที่รายจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น มากกว่าการเติบโตของรายได้ประชาชาติ  

     พูดง่าย ๆ คือ ลงทุนค่าใช้จ่ายรักษาสุขภาพเยอะ แต่สุขภาพของประชาชนไม่ได้ดีขึ้น (อย่างที่ไทยกำลังประสบอยู่)

เป็นที่มาของการจัดประชุมสัมมนาร่วมกับองค์การอนามัยโลก ส่งผลให้มีการประกาศ “กฎบัตรออตตาวาเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ” The Ottawa Charter for Health Promotion ในปี ค.ศ.1986 ที่เน้นให้บุคคลสามารถสร้างเสริมสุขภาพตัวเอง

     ด้วยการทำให้เกิดนโบายสาธารณะที่ดี สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เพิ่มสมรรถนะบุคคลในการรักษาสุขภาพตัวเอง และปรับระบบบริการให้เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ 

     จะเห็นว่ากฎบัตรออตตาวา ว่าด้วยการสร้างเสริมสุขภาพ ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับการรักษาโรคเลย เน้นไปที่การควบคุมปัจจัยทางสังคม สิ่งแวดล้อม ความร่วมมือของชุมชน ที่จะส่งผลต่อการลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา การกินอาหารที่ไม่ถูกต้อง การขาดกิจกรรมทางกาย การเกิดอุบัติเหตุจราจร

     ซึ่งหากรัฐบาลให้การสนับสนุนดำเนินการตามกฎบัตรออตตาวาอย่างจริงจัง ในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ จะลดจำนวนคนที่จะป่วยจากพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพลงไปได้มากมาย

     ประเด็นภาระงานของหมอ ที่มีมากจนหมอทนไม่ไหว มูลเหตุสำคัญก็มาจากการที่ระบบการแพทย์เราเน้นที่การรักษา ซึ่งต้องใช้กำลังคนในระบบบริการเป็นจำนวนมาก นอกเหนือจากภาระงบประมาณสำหรับยาและครุภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ใหม่ ๆ

     ที่เป็นอยู่ปัจจุบันเรายังให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ที่ชัดเจนคือ รัฐบาลยังขาดความเข้าใจถึงบทบาทที่สำคัญยิ่งของรัฐบาลในการกำหนดนโยบายสาธารณะ เพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงสุขภาพต่าง ๆ

     ผมจะขอยกตัวอย่างการควบคุมยาสูบ  ที่หากทำจริงจัง จะลดจำนวนคนที่สูบบุหรี่ ทำให้จำนวนคนป่วยน้อยลง ลดภาระระบบบริการรักษาสุขภาพ

     การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลา (ภาระโรค) อันดับ 1 ของคนไทยมาโดยตลอด ยกเว้นช่วงที่ HIV ระบาดระยะสั้น ๆ  ผลจากการที่คนไทยสูบบุหรี่มานานหลายสิบปี

     การที่เรามีคนสูบบุหรี่ 10 ล้านคน มาดูว่า เรามีคนไข้ที่เกิดจากการสูบบุหรี่จำนวนมากเท่าไร

     ข้อมูลของซีดีซี ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ชาวอเมริกาทุก ๆ 1 คน ที่เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ จะมีอีก 30 คน ที่ป่วยจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ที่ยังมีชีวิตอยู่  ซึ่งอเมริกามีอยู่ถึง 16 ล้านคน

     ผมเคยสอบถามไปที่องค์การอนามัยโลก ได้ข้อมูลว่า กรณีของประเทศไทย สัดส่วนจะเป็นทุก 1 คนที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่  จะมีอีก 20 คน ที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่

     ปัจจุบันคนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ปีละ 6 หมื่นคนเศษ ดังนั้น จำนวนคนที่ป่วยด้วยโรคจากการสูบบุหรี่ที่ยังมีชีวิตอยู่ จะมีถึง 1.2 ล้านคนเป็นอย่างน้อย

     คนไข้จำนวนมากเหล่านี้ ล้วนป่วยเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง มะเร็งต่าง ๆ  รวมทั้งเบาหวาน คนไข้เหล่านี้ จะต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ทั้งที่เป็นคนไข้นอกและที่ต้องอยู่โรงพยาบาล ลองคิดดูว่าเป็นภาระต่อระบบบริการ ต่อทีมแพทย์ผู้รักษามากเพียงไร

     รัฐบาลจึงต้องเข้าใจถึงความสำคัญที่จะต้องสนับสนุนการควบคุมยาสูบ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เกิดนโยบายที่สำคัญ ๆ เช่น ระบบภาษีที่มีประสิทธิภาพ การควบคุมการห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขาย การควบคุมบุหรี่หนีภาษี การบังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ การควบคุมยาสูบในระดับจังหวัด  ฯลฯ

ซึ่งการสนับสนุนมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ ต้องการการนำและความมุ่งมั่นทางการเมือง (Leadership and political will) จากผู้บริหารระดับสูงของหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องให้ความสำคัญในการให้นโยบาย ติดตามการดำเนินงานและประเมินผล

     ซึ่งที่เป็นอยู่ เรามีจุดอ่อนในแทบทุกนโยบายมาตรการควบคุมยาสูบ  เช่น จะขึ้นภาษี จะห้ามส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ ก็กลัวจะกระทบฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ มากกว่าประโยชน์ที่จะได้จากการคุ้มครองสุขภาพ จะให้สิทธิยารักษาเลิกบุหรี่เบิกได้ ก็พิจารณากัน 10 - 15 ปียังไม่เสร็จ จะบรรจุการเรียนการสอนบุหรี่กับสุขภาพในหลักสูตรสถานศึกษา 20 ปีก็ยังไม่เสร็จ จะให้มีการทำงานควบคุมยาสูบในระดับจังหวัด ก็ไม่มีการสนับสนุนอัตรากำลังคน  งบประมาณที่เพียงพอ

     การที่รัฐบาลที่ผ่าน ๆ มา  สนับสนุนให้มีการก่อตั้งและการดำเนินงานของ สสส. เป็นเรื่องที่ดีที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกพยายามที่จะทำตาม

     แต่ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพอย่างเพียงพอแล้ว รัฐบาลและรัฐมนตรีกระทรวงที่รับผิดชอบ ต้องแสดงบทบาทการนำ ในการสนับสนุนกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในกฎบัตรออตตาวาเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะด้านนโยบายสาธารณะ

     การควบคุมปัจจัยเสี่ยงสุขภาพอื่น ๆ เช่น การลดการดื่มสุรา ลดเค็ม ลดหวาน ลดอ้วน เพิ่มกิจกรรมทางกาย ลดอุบัติเหตุจราจร  ล้วนใช้หลักการเดียวกันกับการควบคุมยาสูบ ซึ่งการดำเนินการจะส่งผลต่อการลดจำนวนคนที่จะเจ็บป่วย ลดภาระระบบบริการ ลดภาระงานหมอและทีมงานเช่นเดียวกัน

     นี่ผมพูดเฉพาะการลดภาระงานของหมอ ด้วยการลดจำนวนคนไข้ผ่านการสร้างเสริมสุขภาพ ส่วนการลดภาระงานหมอที่มาจากสาเหตุอื่น ๆ มีคนพูดกันมากแล้ว

     ผมเชื่อมั่น ตั้งแต่ผมเปลี่ยนบทบาทตัวเอง จากแพทย์เฉพาะทางที่รักษาคนที่ป่วยด้วยโรคปอด มารณรงค์ให้คนไม่สูบบุหรี่ ตั้งแต่เมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ว่า การสนับสนุนงานสร้างเสริมสุขภาพจริงจังโดยรัฐบาล จะทำให้คนมีสุขภาพดี ไม่ป่วยด้วยโรคที่เกิดจากปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้ จะลดจำนวนคนป่วย ลดภาระระบบบริการสุขภาพ ลดภาระงานของทีมแพทย์ และชะลอการเพิ่มงบประมาณค่ารักษาพยาบาลคนป่วยของประเทศและลดความยากจนของครัวเรือนประชาชนครับ

 

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ
8 มิถุนายน 2566

 

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

  • 2567/03/09 - บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยจริงไหม
  • 2566 จะลดภาระงานหมอ รัฐต้องสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพจริงจัง เพื่อลดจำนวนคนที่จะป่วย
  • มาทำงานบุหรี่ ผมต้องแลกกับงานสอนที่ผมรักที่สุด
  • 2565 อุดมการณ์ที่หยัดยืนของ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ
  • 2565 เปิดเผยถึง​ กลยุทธ์​ 12 ข้อ​ ที่เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้า​ บิดเบือนข้อเท็จจริง​ในการส่งเสริมการสูบ​บุหรี่​ไฟฟ้า
  • 2564 กว่า 100 เหตุผลที่ต้องเลิกสูบบุหรี่
  • 2564 ประวัติการเกิด APACT เครือข่ายรณรงค์ไม่สูบบุหรี่เอเซียแปซิฟิก
  • 2563 ความสําคัญของการขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปลอดบุหรี่
  • 2563 กลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบ
  • 2563 พิษภัยยาสูบต่อสุขภาพ บุหรี่มือสอง บุหรี่มือสาม
  • 2563 ประวัติการควบคุมยาสูบของประเทศไทย
  • 2562 แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนางานควบคุมยาสูบในพื้นที่ กทม - 5 เม.ย.62
  • 2562 เส้นทางสู่สังคมไทยปลอดบุหรี่ ชนะหลายศึก แต่หนทางยังอีกยาวไกล
  • ความสำคัญของการรักษาให้เลิกสูบบุหรี่ ในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด