2560 อาลัยท่าน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ



ดร.สุรินทร์  เป็นเพื่อนร่วมทำงานควบคุมยาสูบมาตั้งแต่ พ.ศ. 2532 โดยเราทั้งสองและอาจารย์หทัย ได้เดินทางไปให้การต่อเวทีการทำประชาพิจารณ์ ที่จัดโดยสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา ที่กรุงวอชิงตันดีซี เพื่อคัดค้านที่บริษัทบุหรี่ฟิลลิป มอร์ริส นำบริษัทบุหรี่ข้ามชาติอื่นในอเมริกา ขอให้รัฐบาลอเมริกา ใช้กฎหมายการค้า มาตรา 301 เพื่อเจรจาบังคับให้ประเทศไทยเปิดให้มีการนำเข้าบุหรี่อเมริกาได้อย่างเสรี ด้วยเงื่อนไขที่ประเทศไทยยอมไม่ได้ คือขอให้เขานำเข้ามาขายโดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า และขอให้เรายกเลิกกฎหมายห้ามโฆษณาบุหรี่  โดยอ้างว่าเพื่อความเสมอภาคในการแข่งขันกับบุหรี่ไทย เราจึงติดต่อกับกลุ่มสุขภาพในอเมริกา ขอให้มีการทำประชาพิจารณ์ ทางอเมริกาขอให้เราหานักการเมืองหนึ่งคน และหมอหนึ่งคนไปให้การ คือต้องพูดทั้งสุขภาพและการเมือง

เราแบ่งบทบาทกันพูด  โดยผมให้การถึงอันตรายของบุหรี่  และถามหาจิตสำนึกของอเมริกันชน ส่วน ดร.สุรินทร์ พูดถึงความสัมพันธ์ไทยกับอเมริกา ตำหนิอเมริกาว่า ส่งออกสินค้าเสพติด ทำร้ายคนไปทั่วโลก  ท่านพูดว่า "ประเทศไทยก็มีสินค้าดีมาก ที่สามเหลี่ยมทองคำ แต่เราไม่ส่งออก เราปราบปราม"  เป็นวาทะคมคายที่ฮือฮาในเวทีประชาพิจารณ์ 

สิ่งที่ผมประหลาดใจมากที่สุดในการทำประชาพิจารณ์ครั้งนั้น คือ ในขณะที่ผมเองเครียดจนปวดหัว ดร.สุรินทร์กลับยิ้มแย้มแจ่มใส  ยังกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น  ส่อแววว่าจะเป็นคนที่ทำเรื่องใหญ่ ๆ ในเวลาต่อมา

ศาตราจารย์นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นผู้แนะนำให้ผมไปเชิญ ดร.สุรินทร์ ให้ไปร่วมให้การในการทำประชาพิจารณ์ เนื่องจากท่านรู้ว่า ดร.สุรินทร์ ไม่เพียงแต่จบจากฮาวาร์ด ยังเคยไปเป็นอินเทร์นฝึกงานที่ คองเกรสอเมริกาอยู่หนึ่งปี เป็นคนไทยที่ไม่ได้อยู่เมืองนอกนาน แต่พูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก ๆ 

หลังจากนั้นก็ได้ติดต่อกับดร.สุรินทร์มาโดยตลอด ปี พ.ศ.2535   ดร.สุรินทร์  พาผมไปคุยที่พรรคประชาธิปัตย์ ชวนให้ผมลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรค ท่านบอกว่า ถ้าผมลงแล้ว ทางพรรคจะหา safe seat ให้ ผมถามว่า safe seat หมายความว่าอะไร ท่านบอกว่า หมายถึงพื้นที่ที่ลงแล้วต้องได้แน่นอน และผมไม่ต้องออกเงินค่าหาเสียง พรรคจะหาคนดูแลให้ หลังคุยกันผมบอกไม่พร้อมที่จะลงสมัคร  ดร.สุรินทร์  ถามว่า "ทำไมล่ะ กลัวสอบตกหรือ รับรองว่าสอบได้นะ"   ผมบอกว่า กลัวจะสอบได้ต่างหาก เพราะเงินเดือน ส.ส. ไม่พอที่จะเลี้ยงครอบครัว ดร.สุรินทร์ได้แต่หัวเราะ คงคิดว่า หมอนี่ไม่เอาไหนเลย

ช่วงที่ผมยังอยู่ รพ.รามา ดร.สุรินทร์  จะติดต่อฝากดูแลคนใกล้ชิดเรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยเสมอ 

ตลอดช่วงเวลาที่ ดร.สุรินทร์ ร่วมอยู่ใน ครม. ท่านจะเป็นคนในที่ช่วยวิ่งเต้นสนับสนุนโยบายควบคุมยาสูบที่เข้าสู่ ครม. ทั้งการผ่านกฎหมายและการขึ้นภาษี

ดร.สุรินทร์ชอบเย้าเสมอว่าประเทศไทยมีคนที่ fanatic เรื่องบุหรี่สองคน คือคุณหมอหทัยกับคุณหมอประกิตหมายความว่า หมกมุ่น/เข้าไส้เรื่องยาสูบ ประมาณนั้น

เมื่อ  ดร.สุรินทร์  ได้เป็นเลขาธิการอาเซียน เราและเครือข่ายที่ทำงานควบคุมยาสูบในอาเซียน ก็ขอเข้าปรึกษา ดร.สุรินทร์ เพื่อขอให้ท่านได้ยกระดับการควบคุมยาสูบในประเทศอาเซียน ท่านก็สนับสนุนและใช้คำคมว่า "อาเซียนต้องดำเนินนโยบาย green and safe trade"  ไม่ส่งเสริมการค้าสินค้าที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคเช่นบุหรี่ ท่านได้ช่วยให้งานควบคุมยาสูบ เป็นงานหนึ่งในด้านสุขภาพของสำนักเลขาอาเซียน 

บารมีของ ดร.สุรินทร์ ทำให้อาคารสำนักงานอาเซียนที่กรุงจาการ์ต้า  ที่แต่เดิมไม่มีการห้ามสูบบุหรี่ในอาคาร กลายเป็นสำนักงานปลอดบุหรี่   เรายังได้เชิญ ดร.สุรินทร์  บินตรงจาการ์ต้า  เพื่อเป็นองค์ปาฐก เปิดการประชุม บุหรี่และสุขภาพภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค (APACT)  ที่ซิดนีย์ เมื่อ พ.ศ. 2553 พูดเสร็จท่านก็บินกลับเลย  แสดงถึงการให้ความสำคัญต่องานควบคุมยาสูบของ ดร.สุรินทร์ และทุกครั้งที่เราขอให้ท่านช่วยงานเกี่ยวกับบุหรี่ ท่านไม่เคยที่จะไม่ช่วย

ดร.สุรินทร์  ยังได้อภิปรายในสภา ช่วงที่ สสส.ถูกการเมืองบีบคั้นราวปี พ.ศ. 2546-2547  โดยท่านชี้ให้สภารับทราบการที่ทั่วโลกเน้นความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์ และ สสส.เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ในการเน้นการป้องกันโรคและสร้างเสริมสุขภาพ

ดร.สุรินทร์  เป็นคนแพ้ควันบุหรี่อย่างมาก เจอควันบุหรี่ก็จะน้ำหูน้ำตาไหล   ทุกครั้งที่ได้มีโอกาสคุยกัน ผมจะแนะนำให้ ดร.สุรินทร์  รักษาสุขภาพ เพราะรู้ว่าท่านเดินทางมาก น่าเหน็ดเหนื่อยแทน ขอให้เขาจัดเวลาออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ

ระยะหลังไม่ค่อยได้เจอหรือพูดคุยกัน

ใจหายและเสียดายเมื่อทราบข่าว

ขอให้ ดร.สุรินทร์  จงหลับสบาย และดวงวิญญาณจงสู่สุคติ และขอแสดงความเสียใจต่อคุณอลิสาและลูก ๆ ด้วย