เตือนบุหรี่ต้นทางสู่ยาเสพติดชนิดอื่น



คอลัมน์ : สารเยาวชน

เตือนบุหรี่ต้นทางสู่ยาเสพติดชนิดอื่น

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ว่า จากกรณีที่พบเด็กและเยาวชน 7 ราย เสียชีวิตจากการรวมกลุ่มเสพเคนมผง สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ประชาชนทั่วประเทศ จากข้อมูลการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดของสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟู ผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 พบผู้ป่วยทั้งหมด 3,803 คน เป็นเพศชาย 3,256 คน และเพศหญิง 547 คน กลุ่มผู้ป่วยที่มากที่สุดอยู่ในช่วงวัยรุ่นอายุระหว่าง 20-24 ปี 726 คน รองลงมาได้แก่ช่วงอายุระหว่าง 25-29 ปี 692 คน ทั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ส่วนราชการมีนโยบายการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง สำคัญที่สุด คือพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบดูแลบุตรหลาน เพราะบุหรี่เป็นต้นทางสู่ยาสาเสพติดชนิดอื่นๆ

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ในฐานะกุมารแพทย์เด็กและวัยรุ่น กล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างบุหรี่กับยาเสพติดประเภทอื่นๆ ว่า ในทางการแพทย์สามารถอธิบายได้ชัดเจนว่าเด็กหรือเยาวชนคนใดที่มีพฤติกรรมเสพติดบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าและรับนิโคตินเข้าไปเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลต่อสมองให้เปิดรับยาเสพติดอื่นๆ “นิโคตินในบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าจะวิ่งเข้าสู่สมองภายในไม่เกิน 10 วินาที และเข้าไปบ่มเพาะสมองของเด็กและเยาวชนให้ไวต่อสารเสพติดต่าง ๆ รวมถึงการกระตุ้นสมองส่วนอารมณ์ให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย

ทั้งนี้ จึงอยากเตือนไปยังเยาวชนให้นึกถึงสุขภาพของตนเองเป็นหลัก เพราะหากสมองเราถูกทำลายไปอาจทำให้การคิดวิเคราะห์ การควบคุมอารมณ์ การอยู่ร่วมกันทางสังคม ของเราสูญเสียไปโดยสิ้นเชิง”

นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ส่วนประกอบของยาเคนมผงที่มีการนำมาใช้เป็นยาเสพติด พบว่ามีอันตรายถึงชีวิต ส่วนผสมของยาเคนมผง มียาเคหรือเคตามีน (Ketamine) เป็นส่วนประกอบหลักร่วมกับยาไอซ์ เฮโรอีนและยานอนหลับที่เรียกว่าโรเซ่ นำมาผสมและบดรวมกันจนละเอียดจะมีลักษณะคล้ายนมผง จึงเป็นที่มาของการเรียกว่ายาเคนมผง จะมีผลข้างเคียงที่อันตราย ระบบการทำงานของหัวใจและการหายใจผิดปกติ รวมไปถึงส่งผลต่อ อาการทางจิต เช่น ฝันร้าย เพ้อคลั่ง ประสาทหลอน จนนำไปสู่คนวิกลจริตได้

ที่มา : พชรพรรษ์ ประจวบลาภ สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย

Smartnews เผยแพร่วันที่ 15 มกราคม 2564

topic

  • วารสาร SMART อ่านได้บน Online
  • บุหรี่ไฟฟ้า...อันตรายมากกว่าที่คุณคิด
  • ร่วมกันทำ
  • เฝ้าระวังและเปิดโปงกลยุทธ์บริษัทบุหรี่ ในภูมิภาคอาเซียน
  • หนังดีมาก ที่สูบบุหรี่กันทั้งเรื่อง
  • ปัจจัยเสี่ยง ที่หลีกเลี่ยงได้
  • ชีวิตดีบางทีต้องมีแผน?
  • แรลลี่วัดนครนายกปลอดบุหรี่
  • กับดักบริษัทบุหรี่่
  • นักฆ่าบุหรี่ ไมค์ พิรัชต์ นิธิไพศาลกุล
  • สื่อศิลปะแบบปลอดบุหรี่
  • TUM แอปพลิเคชันใหม่เพื่อท้องถิ่นปลอดบุหรี่
  • กลิ่นปากเหม็นแก้ยังไง ...5 วิธีระงับกลิ่นปาก
  • กรมการแพทย์แนะป้องกันหลอดเลือดสมอง ออกกำลังกาย-งดบุหรี่ สุรา สามารถควบคุมได้
  • 8 กลุ่มเสี่ยง ที่อาจมีอาการรุนแรงหากติดโควิด-19
  • เตือนบุหรี่ต้นทางสู่ยาเสพติดชนิดอื่น