เตือนอย่าตกเป็นเหยื่อบารากู่ไฟฟ้า



มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่                    

ACTION  ON  SMOKING  AND  HEALTH  FOUNDATION

 

Press Release

ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

วันที่  20 ธันวาคม 2556

วันที่ข่าวตีพิมพ์  :  สามารถเผยแพร่ได้ทันที


เตือนอย่าตกเป็นเหยื่อบารากู่ไฟฟ้า

                ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เตือนวัยรุ่นอย่าเสียรู้ตกเป็นเหยื่อพ่อค้าบารากู่ไฟฟ้า ด้วยมีผู้สอบถามมายังมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่เกี่ยวกับบารากู่ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก เพราะเห็นมีการสูบแพร่หลายในหมู่วัยรุ่น ตามสถานที่ท่องเที่ยว ผับ บาร์ และแม้แต่ในโรงเรียน มีการโฆษณาขายผ่านอินเทอร์เน็ตอย่างเปิดเผย โดยบารากู่ไฟฟ้าที่ขายมีรสผลไม้ชนิดต่าง ๆ เช่น รสแอปเปิ้ล รสเชอรี่ รสสตรอเบอรี่ รสส้ม เป็นต้น เว็บไซต์ที่ขายบรรยายสรรพคุณว่า บารากู่ไฟฟ้าไม่มีสารนิโคติน สูบแล้วมีแต่กลิ่นผลไม้ และไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

                ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า บารากู่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ที่ออกมาหลอกเงินจากวัยรุ่น อุปกรณ์ในการสูบที่เหมือนบุหรี่ไฟฟ้าก็มี ที่เป็นแท่งมีแบตเตอรี่ในตัว ภายในแท่งบรรจุแผ่นใยสังเคราะห์ชุบน้ำยากลิ่นผลไม้มีลักษณะคล้ายน้ำมันมีกลิ่นฉุนมาก เวลาสูบแล้วพ่นออกมาจะเป็นไอ โดยใช้หมดมวนแล้วทิ้งเลยก็มี การที่ผู้ขายเรียกชื่อสินค้าใหม่นี้ว่าบารากู่ไฟฟ้าเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด เนื่องจากบารากู่ต้นตำรับเป็นการหมักยาเส้นกับกากผลไม้ต่าง ๆ  ทำให้เวลาสูบบารากู่มีกลิ่นผลไม้ แต่บารากู่ไฟฟ้านั้น กลิ่นผลไม้มาจากสารเคมีสังเคราะห์ให้เกิดกลิ่นผลไม้ชนิดต่าง ๆ อาจจะเรียก  บารากู่ไฟฟ้าว่าบุหรี่ไฟฟ้าชูรสก็คงจะไม่ผิด ที่ผู้ขายบอกว่าไม่มีสารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้านั้นอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ แต่ถึงไม่มีสารนิโคตินในบารากู่ไฟฟ้า สารเคมีชนิดต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดกลิ่นผลไม้ เมื่อสูดเข้าสู่ปอดจะเป็นอันตรายมากน้อยเพียงใด ยังไม่มีข้อมูลที่สรุปได้ว่าไม่มีอันตราย แต่จากการแกะแท่งบารากู่ไฟฟ้าออกดูที่พบสารคล้ายน้ำมันกลิ่นฉุนจัด ในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด ขอยืนยันว่าสารเคมีปรุงแต่งกลิ่นซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอม เป็นอันตรายต่อปอดและร่างกายแน่ ๆ ส่วนที่บอกว่าไม่มีสารนิโคตินในบารากู่ไฟฟ้านั้น ถ้าหากไม่มีจริง ๆ บารากู่ไฟฟ้าก็จะไม่เสพติด ไม่นานคนก็จะเลิกสูบไปเอง ส่วนในทางกฎหมายนั้น ผู้ขายบารากู่ไฟฟ้าที่มีลักษณะเป็นแท่งเหมือนบุหรี่ มีความผิดตามมาตรา 10 พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 เนื่องจากเข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์เลียนแบบสินค้ายาสูบ มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

“ผมอยากเตือนวัยรุ่นว่า อย่าตกเป็นเหยื่อให้กับพ่อค้าบารากู่ไฟฟ้า เพราะจะทั้งเสียเงิน เสียสุขภาพ และเสียรู้แก่พ่อค้าที่หวังแต่ผลกำไรเท่านั้น ถ้าไม่เชื่อก็ขอให้ลองแกะแท่งบารากู่ไฟฟ้าออก แล้วดมกลิ่นดู รับรองคุณจะไม่สูบมันอีก” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ :

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่                                          

โทร. 0-2278-1828 / 08-1822-9799