ชูเป้าหมายขับเคลื่อน “พหุภาคีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปลอดบุหรี่อย่างยั่งยืน”



มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่                    

ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION
 

Press Release 

ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ 


 

ชูเป้าหมายขับเคลื่อน “พหุภาคีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปลอดบุหรี่อย่างยั่งยืน”

วันนี้ (26 พฤษภาคม 2566) มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับ ภาคีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดเวทีสรุปบทเรียน ประกาศเป้าหมาย และนโยบายเพื่อมุ่งสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปลอดบุหรี่ ภายในปี 2567 โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 86 แห่ง ใน 36 จังหวัดจาก 4 ภูมิภาคในประเทศไทย มีเป้าหมายร่วมกัน ในการดำเนินงานเพื่อช่วยคนให้เลิกสูบบุหรี่ ทำบ้านปลอดบุหรี่ และร้านค้ากับสถานที่สาธารณะในพื้นที่ปฏิบัติตามกฎหมาย 100% อันจะนำไปสู่การปกป้องคนในชุมชนจากการสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า

นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะประธานเปิดงาน กล่าวว่า การรณรงค์ การส่งเสริมสุขภาพ เป็นกิจกรรมที่ต้องขับเคลื่อนร่วมกันหลายภาคส่วน โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ เป็นภัยต่อความมั่นคงด้านสุขภาพและเศรษฐกิจของครัวเรือน โดยประชากรที่จนที่สุด (มีรายได้เฉลี่ย 1,000 บาทต่อเดือน) เกือบ 5 แสนคน ใช้เงินซื้อบุหรี่เดือนละ 629 บาท ประชากรที่จน (มีรายได้ 3,185 บาทต่อเดือน) 5 แสนคน ใช้เงินซื้อบุหรี่เดือนละ 520 บาท และประชากรที่มีฐานะปานกลาง (มีรายได้เฉลี่ย 6,532 บาทต่อเดือน) มากกว่า 1 ล้านคน ใช้เงินซื้อบุหรี่เดือนละ 625 บาท นอกจากนั้น การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2564 พบว่า ในทุก 10 ครัวเรือน จะมี 5 ครัวเรือนที่มีคนสูบบุหรี่ ในจำนวนนี้มี 3 ครัวเรือนมีคนสูบบุหรี่ที่สูบในบ้าน  ดังนั้น หากนับรวมจำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านด้วย จะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคนเป็นอย่างน้อย ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ.2560 โดยเฉพาะการเพิ่มสมรรถนะการควบคุมยาสูบระดับจังหวัด จะเป็นกลไกสำคัญที่ลดจำนวนคนสูบบุหรี่ซึ่งมีอยู่สูงในภูมิภาค

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระดับประเทศ  แต่ละปี มีคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคจากการสูบบุหรี่ถึง 70,953 คน ค่ารักษาพยาบาลคนที่เจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่สูงถึง ปีละ 80,000 ล้านบาท และหากรวมความสูญเสียจากการขาดรายได้และเสียชีวิตก่อนเวลาจะเป็นความสูญเสีย  ปีละเกือบ 180,000 ล้านบาท องค์การอนามัยโลก ได้เสนอแนะไว้ว่าประเทศไทยจะลดปัญหาด้านสุขภาพเกี่ยวกับโรคเรื้อรังได้ ด้านการควบคุมยาสูบต้องเร่งดำเนินการใน 3 ประเด็น คือ 1) การเพิ่มสมรรถนะการควบคุมยาสูบระดับจังหวัด 2) ภาษียาสูบโดยเฉพาะภาษียาเส้น และ 3) การบังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานให้เกิดเป็นรูปธรรม

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การควบคุมและลดการสูบบุหรี่ เพื่อปกป้องสุขภาพประชาชนให้ปลอดภัยจากควันบุหรี่ ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ซึ่ง สสส. ตระหนักถึงบทบาทสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะมีส่วนร่วมในการควบคุมยาสูบตั้งแต่ระดับชุมชน ควบคู่ไปกับการพัฒนานโยบายและการบังคับใช้กฎหมายควบคุมยาสูบในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องตลอดมา

ด้าน นายเพลิน วรพงศ์วัฒนา นายกเทศมนตรีตำบลหนองล่อง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน ในฐานะตัวแทนภาคีเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปลอดบุหรี่ จำนวน 86 แห่ง กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งขับเคลื่อนการควบคุมยาสูบต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 มาจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันมีจำนวนเครือข่ายที่ทำกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในพื้นที่มากกว่า 1,000 แห่ง และมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดำเนินกิจกรรมอย่างเข้มแข็ง มีการเก็บข้อมูลเชิงลึก จำนวน 86 แห่ง ใน 32 จังหวัด ครอบคลุม 4 ภูมิภาคของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา เครือข่ายได้เริ่มเรียนรู้การทำงานโดยใช้ข้อมูลเป็นฐาน มีการวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบเพื่อแก้ปัญหาการสูบบุหรี่ของคนในชุมชน ในวันนี้จึงขอประกาศฉันทามติที่เป็นเป้าหมายร่วมกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 86 แห่ง ดังนี้

  1. จะร่วมมือกับร้านค้า สรรพสามิตพื้นที่ และหน่วยงานต่าง ๆ เฝ้าระวัง ตักเตือน ไม่ให้ร้านค้าทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการขายบุหรี่แบบแบ่งมวน  ขายบุหรี่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี แสดงซองทั้งบุหรี่มวนและยาเส้น ตั้งเป้าหมายให้ร้านขายบุหรี่ 4,413 ร้าน ขายบุหรี่และยาเส้นอย่างถูกกฎหมาย
  2. จะร่วมมือกับคนในชุมชน เฝ้าระวัง ตักเตือน ไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ เพื่อปกป้องคนในชุมชนจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง ตั้งเป้าหมายให้สถานที่สาธารณะ 4,889 แห่ง มีสัญลักษณ์ห้ามสูบบุหรี่และไม่มีการสูบบุหรี่
  3. จะรณรงค์ ติดตาม และดำเนินการอย่างเข้มแข็ง แม้ในบ้านจะยังมีคนสูบบุหรี่ แต่จะไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในบ้าน ตั้งเป้าหมายการทำบ้านปลอดบุหรี่ 8,637 หลังคาเรือน
  4. จะชวนคนในชุมชนเลิกสูบบุหรี่ โดยดำเนินการแต่งตั้งกรรมการ การวางกฎ กติกาของชุมชน และการจัดกิจกรรมเพื่อชวนคนในชุมชนให้เลิกบุหรี่ ตั้งเป้าหมายช่วยคนให้เลิกสูบบุหรี่ จำนวน 3,789 คน

นายเพลิน วรพงศ์วัฒนา กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบกับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน จะเป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปลอดบุหรี่ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ได้แก่ การสร้างนโยบาย สร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ สร้างความเข้มแข็งในชุมชน สร้างทักษะส่วนบุคคล และปรับระบบบริการสุขภาพเพื่อช่วยคนให้เลิกบุหรี่ จะนำไปสู่การปกป้องคนในชุมชนจากการสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงการได้รับควันบุหรี่มือสองใน 1,045 ชุมชน มากกว่า 490,000 ครัวเรือน ครอบคลุมประชากรไม่ต่ำกว่า 800,000 คน

นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การกำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนงานควบคุมการบริโภคยาสูบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนมิติสุขภาพของประชาชนทั้งประเทศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบที่วางไว้ ขณะที่ ว่าที่ร้อยตรีขรรค์ไชย ทันธิมา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ยินดีจะสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขับเคลื่อนนโยบาย การผลักดันให้การทำงานควบคุมการบริโภคยาสูบ เข้าไปอยู่ในการประเมินประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Local Performance Assessment : LPA) ด้านงานส่งเสริมคุณภาพชีวิต หมวดงานด้านสาธารณสุข เป็นนโยบายที่จะดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้เป้าหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปลอดบุหรี่เกิดขึ้นจริง

งานวันนี้จัดโดย มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ด้วยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีภาคีเครือข่ายเข้าร่วมจำนวน 198 คน และได้รับการสนับสนุนจากพหุภาคีในการดำเนินงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปลอดบุหรี่อย่างยั่งยืน ประกอบด้วย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย (ส.จ.ท.) สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย (ส.ต.ท.) รวมถึง โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ นางสาวอุรพี จุลิมาศาสตร์ 0866558284 / 02-278-1828