“มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จับมือ กรุงเทพมหานคร บูรณาการขับเคลื่อน สถานพยาบาล รณรงค์ให้บ้านเด็กเล็กปลอดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า”



มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่                    

ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION 

Press Release

ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ 

วันที่ 26 กันยายน 2567

วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที

“มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จับมือ กรุงเทพมหานคร
บูรณาการขับเคลื่อน สถานพยาบาล รณรงค์ให้บ้านเด็กเล็กปลอดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า”

 

วันที่ 26 กันยายน 2567 มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุม “บูรณาการขับเคลื่อน สถานพยาบาลรณรงค์ให้บ้านเด็กเล็กปลอดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า” เพื่อส่งเสริมให้สถานพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร ร่วมรณรงค์ปกป้องเด็กจากการได้รับควันบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าในบ้าน มีแนวทางการดำเนินกิจกรรมบูรณาการเข้าสู่งานประจำ และจัดกิจกรรมเชิงรุกสู่ชุมชน 

ศ.นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ  ประธานมูลนิธิรณรงค์เพรื่อการไม่สูบบุหรี่  กล่าวว่า จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ไม่สูบบุหรี่ 3.43 ล้านคน ในจำนวนนี้ได้รับควันบุหรี่ในบ้านตัวเอง แบ่งเป็นเพศชาย 6 แสนกว่าคน เพศหญิง 2.82 ล้านคน  ขณะที่ในครัวเรือนที่มีเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ขวบ พบว่า ในทุก 10 ครัวเรือน จะมี 5 ครัวเรือนที่มีคนสูบบุหรี่ ในจำนวนนี้มี 3 ครัวเรือนมีการสูบในบ้าน รวมแล้วจะมีเด็กไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน เป็นอย่างน้อย ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน แม้ในภาพรวม แนวโน้มการได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านจะลดลงจาก 39.9% ในปี 2557 เหลือ 23.7% ในปี 2564

ศ.นพ.ประกิต  กล่าวเพิ่มเติมว่า  แม้แนวโน้มการสูบบุหรี่ในบ้านของผู้สูบบุหรี่ไทยจะลดลง แต่ยังอยู่ในอัตราที่สูง ทำให้เกิดการเจ็บป่วยของคนในบ้าน โดยเฉพาะในเด็กเล็กจากหลอดลมอักเสบ การติดเชื้อทางเดินหายใจ ปอดบวมจนถึงเสียชีวิต เป็นหืด อาการหืดกำเริบ ขณะที่ผู้ใหญ่ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองระยะยาว โรคที่พบคือมะเร็งปอด โรคเส้นเลือดหัวใจและสมองตีบ ทุกฝ่ายจึงต้องช่วยกันให้ความรู้ผู้สูบบุหรี่และคนใกล้ชิดคนสูบบุหรี่ ถึงพิษภัยของควันบุหรี่มือสอง หากยังเลิกบุหรี่ไม่ได้ ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะสูบบุหรี่ในบ้าน ซึ่งการสูบบุหรี่ในบ้าน นอกจากทำให้คนในบ้านได้รับอันตรายจากควันบุหรี่มือสองแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ลูกหลานในบ้านกลายเป็นคนสูบบุหรี่ในอนาคต ขณะที่การไม่สูบบุหรี่ในบ้าน จะทำให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบได้ง่ายขึ้น สอดคล้องกับรายงานภาระทางเศรษฐศาสตร์และการพยากรณ์โรคของเด็กก่อนวัยเรียน ปี 2562 โดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ผู้สูบบุหรี่ในบ้านก่อให้เกิดควันบุหรี่มือสอง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กเล็กอายุ 6 เดือน – 5 ปี ด้วยภาวะหอบเฉียบพลัน ซึ่ง 67% มีโอกาสเจ็บป่วยแบบฉุกเฉินซ้ำ และ 32% มีอาการหนักจนต้องนอนโรงพยาบาล เด็กที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยภาวะหอบเฉียบพลัน มีต้นทุนเฉลี่ยของการรักษา 1 ราย เท่ากับ 20,269 บาท ทั้งประเทศคิดเป็นค่าใช้จ่ายราว 779 ล้านบาท

พญ.ภาวิณี  รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ด้วยการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าขยายวงกว้างจนน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุ่งเป้าไปยังกลุ่มเด็กเล็กและเยาวชน กรุงเทพมหานคร จึงได้ออกประกาศ แนวทางปฏิบัติ เพื่อการป้องกันและควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร โดย 1) ให้โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ “ปลอดบุหรี่ไฟฟ้า” โดยให้มีการติด/แสดง ข้อความหรือสัญลักษณ์ปลอดบุหรี่ไฟฟ้าบริเวณทางเข้า - ออก และภายในบริเวณโรงเรียน พร้อมทั้งเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ผ่านทางช่องทางที่หลากหลาย  2) ให้โรงเรียนตรวจกระเป๋านักเรียน ตรวจตราบริเวณอาคารสถานที่ภายในโรงเรียน เป็นประจำ เพื่อเป็นการป้องกันการนําบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยา หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในโรงเรียน 3) ให้สำนักงานเขตและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องตรวจตราไม่ให้มีการจําหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า บริเวณรอบโรงเรียน ชุมชน และแหล่งต่าง ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานเขต โดยจัดเจ้าหน้าที่บูรณาการร่วมกัน ระหว่างฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ฝ่ายเทศกิจ ฝ่ายการศึกษา 4) ให้โรงเรียนจัดทำ Dropbox สำหรับใส่บุหรี่ไฟฟ้า น้ำยา หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเมื่อตรวจพบการนําบุหรี่ไฟฟ้าฯ เข้ามาในโรงเรียน ให้ริบใส่ไว้ใน Dropbox และจัดทำข้อมูล ทะเบียนบุหรี่ไฟฟ้าฯ ดังกล่าว พร้อมแจ้งสำนักงานเขตเพื่อประสานดำเนินการต่อไป 5) ให้ศูนย์บริการสาธารณสุขให้ความรู้ให้คำปรึกษา และตรวจเยี่ยมโรงเรียน ในกรณีที่มีเด็ก และเยาวชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า หรือสิ่งเสพติดอื่นใด ให้ดำเนินการโดยใช้กระบวนการปรับพฤติกรรมหรือนําเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาต่อไป

ด้าน พญ.พิมพ์ชนก  จันทร์สวัสดิ์  กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ได้นำเสนอข้อมูล การสำรวจผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย  ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีจำนวนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยในปี พ.ศ.2564  พบว่ามีคนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 78,742 คน  คิดเป็นเพศชายถึง 90% (71,486 คน) และ เพศหญิง 10% (7,256 คน) ซึ่งในกลุ่มเด็กนักเรียนไทย อายุ 13 - 15 ปี เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 3.3 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 8.1 ในปี 2564 ด้วยความเชื่อที่ยังไม่ถูกต้องและคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่า ซึ่งความจริงแล้ว บุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคติน จึงทำให้ผู้สูบติดได้ไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดา มีรูปลักษณ์ที่ดูทันสมัยและหลากหลายกว่า ไม่มีกลิ่นเหม็น ดึงดูดและทำให้ผู้สูบมีแนวโน้มที่จะติดกับการสูบได้มากขึ้น 

พญ.พิมพ์ชนก  กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเด็กทารกและเด็กที่ได้รับควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพราะปอดและระบบภูมิคุ้มกันของเด็กยังไม่พัฒนาเต็มที่  ทำให้ไม่สามารถต่อสู้กับสารพิษได้ดีเท่าผู้ใหญ่ และเด็กมีอัตราการหายใจเร็วกว่า    ทำให้สูดดมสารพิษเข้าไปในปริมาณมากกว่า หากเด็กได้รับควันมือสองจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมาก ในระยะสั้นจะทำให้โรคหืดและ ภูมิแพ้กำเริบ เกิดโรคปอดอักเสบ ในระยะยาวจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรม                       มีสมรรถภาพปอดเสื่อมถอย ปริมาตรปอดลดลงและก่อให้เกิดมะเร็งปอด นอกจากนั้นบุหรี่ไฟฟ้ายังมีผลต่อระบบประสาทของเด็กและเยาวชนในทุกช่วงอายุ ส่งผลเสียต่อสมาธิ ความจำ การคิดวิเคราะห์ การควบคุมอารมณ์ การพัฒนาระบบประสาทและสมอง รวมถึงทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าอีกด้วย 

ด้าน ผศ.พิเศษ พญ.นัยนา ณีศะนันท์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ กุมารเวชศาสตร์สังคม สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี  นำเสนอ บทเรียนการดำเนินโครงการบ้านปลอดบุหรี่ ที่ได้ดำเนินการตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2551– 2559 โดยในปีแรก ได้ดำเนินโครงการ “สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เป็นต้นแบบในการรณรงค์ให้บ้านปลอดบุหรี่” และมีการขยายเครือข่ายในการรณรงค์ให้บ้านปลอดบุหรี่ ในปี 2553 – 2554 จากนั้น ได้ขยายเครือข่ายในการรณรงค์ให้บ้านปลอดบุหรี่สู่ชุมชน  ในปี 2557 – 2559 โดยกรอบแนวคิดในการดำเนินงาน ได้เชื่อมงานกับเครือข่ายพันธมิตรด้านสุขภาพ  ครอบครัว และการมีส่วนร่วมกับชุมชน ซึ่งมีโรงพยาบาลชุมชน 5 แห่ง และโรงพยาบาลระดับตำบล 5 แห่ง เข้าร่วมโครงการ

โดยเมื่อเริ่มดำเนินการได้มีการสำรวจข้อมูล จากพ่อแม่ ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอายุ แรกเกิด - 12 ปี ที่นำบุตรหลานมารับบริการตรวจ รักษาที่สถาบันสุขภาพเด็กฯ (มีสมาชิกในบ้านสูบบุหรี่) จำนวน 658 ตัวอย่าง และบุคลากรของ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี จำนวน 198 ตัวอย่าง พบว่า พ่อแม่ ผู้ปกครองที่สูบบุหรี่ ร้อยละ 82 มีการสูบบุหรี่ในบ้านที่มีเด็ก  มากกว่า 1 ใน 3 เคยเห็นบุตรหลานเลียนแบบท่าทางการสูบบุหรี่ ในขณะที่ ร้อยละ 86 เชื่อว่าผู้ได้รับควันบุหรี่มือสองมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเดียวกับผู้ที่สูบบุหรี่  และร้อยละ 84 เห็นด้วยต่อการรณรงค์ให้บ้านปลอดบุหรี่  ในขณะที่ ร้อยละ 50 ไม่ทราบว่าโรคต่าง ๆ ในเด็กเกี่ยวข้องกับการได้รับควันบุหรี่มือสอง  ดังนั้น การสื่อสารประชาสัมพันธ์รูปแบบต่าง ๆ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ในช่วงที่ดำเนินโครงการได้จัดทำสื่อรณรงค์ ได้แก่ ชุดบัตรคิวให้ความรู้  โมบายบ้านปลอดบุหรี่ โปสเตอร์รณรงค์ แผ่นพับประชาสัมพันธ์  สติกเกอร์เขตปลอดบุหรี่ กระปุกออมสิน สมุดระบายสี จัดกิจกรรมรณรงค์กับผู้ปกครองที่พาเด็กมารับบริการ มีการผลิตชุดผ้าอ้อมโลโก้สัญลักษณ์บ้านปลอดบุหรี่ มอบให้กับทารกแรกเกิดเพื่อเป็นกำลังใจให้คุณพ่อเลิกสูบบุหรี่เพื่อลูก หรือการจัดมุมให้ความรู้แก่ผู้มารับบริการ

การประชุมครั้งนี้ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข นักสังคมสงเคราะห์ ครูพี่เลี้ยงเด็ก จากศูนย์บริการสาธารณสุข สังกัดสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร 67 แห่ง รวม 103 คน พร้อมด้วย แพทย์, พยาบาล จากโรงพยาบาล 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลการุณย์รัศมิ์ และโรงพยาบาลตากสิน และสำนักพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ สังกัดสำนักการแพทย์ อีก 4 ท่าน รวม 107  ท่าน

 

 

 

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  02-278-1828