สื่อกรมประชาสัมพันธ์ภาคอีสาน ขานรับนโยบายรัฐบาลให้ทุกสื่อในสังกัด  “ร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า”



มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่                    

ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION 

               

Press Release

ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ 

วันที่  17  ตุลาคม 2567

วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที

สื่อกรมประชาสัมพันธ์ภาคอีสาน ขานรับนโยบายรัฐบาลให้ทุกสื่อในสังกัด

 “ร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า”

วันนี้ (17 ตุลาคม 2567) มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับ กรมประชาสัมพันธ์, ศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ (พศย.) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัด “การสัมมนาสื่อมวลชนสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ เขต 1 และ 2 เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า” เพื่อสร้างความตระหนักและร่วมกันสื่อสารเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าให้กับกลุ่มสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และเพื่อเชื่อมประสานองค์กรสื่อของภาครัฐเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนสังคมปลอดบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยผู้เข้าร่วมเป็นบุคลากรระดับปฏิบัติการในสังกัดของกรมประชาสัมพันธ์ เขต 1 และ เขต 2 จำนวน 45 ท่าน จาก 18 จังหวัด  นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ และ แกนนำเยาวชน Gen Z จังหวัดขอนแก่น และเครือข่ายสื่อมวลชนศูนย์ข่าวปลอดควันจังหวัดขอนแก่น

ดร.พรพิทักษ์ แม้นศิริ ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์เขต 1 กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกับ  มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และภาคีเครือข่ายด้านการควบคุมยาสูบได้ตระหนักถึงผลกระทบของอันตรายจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบ ซึ่งถือเป็นปัญหาในระดับประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ เพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนจากการสเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ สื่อออนไลน์ และสื่อบุคคล จึงได้มีการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานด้านการสื่อสาร  ประชาสัมพันธ์  เพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนจากการสเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า

นอกจากนี้ สถานการณ์การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชน  ยังเข้าไปในโรงเรียนจนถึงนักเรียนชั้นประถมศึกษา ที่น่าเป็นห่วง เราพบกลุ่มผู้เสพหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนอายุเพียง 13 ปี และยังสืบทราบมาว่ามีการนำไปขายในโรงเรียน สถานศึกษา โดยเด็กและเยาวชนเป็นคนรับไปจำหน่ายเอง ในปัจจุบันทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อเรื่องการระบาดและการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า  ซึ่งเป็นสาเหตุของการเข้าถึงในเด็กและเยาวชนได้ง่าย และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการความร่วมมือ เพื่อกวาดล้างและปราบปรามอย่างจริงจัง โดยเฉพาะปัจจุบันที่มีการลักลอบจำหน่ายในกลุ่มเด็กและเยาวชน รวมถึงมีนโยบายของ กระทรวงศึกษาธิการ และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  ให้สื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับหน่วยงานในสังกัด เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้รู้ถึงพิษภัยของการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า ตามข้อสั่งการของอดีตนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ที่แจ้งในที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2567 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดปราบปรามผู้ที่ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าในช่องทางต่าง ๆ  รวมทั้งให้กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เผยแพร่ความรู้และรณรงค์เรื่องโทษของบุหรี่ไฟฟ้า

ดังนั้น กรมประชาสัมพันธ์  ยินดีสนับสนุนและจะร่วมมือกับทุกหน่วยงานข้างต้นที่กล่าวมา ในการสนับสนุนให้องค์กรที่อยู่ในสังกัดของกรมประชาสัมพันธ์ มีแผนงานการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม และต่อเนื่อง เพื่อสร้างการรับรู้ถึงพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยเป็นเกราะป้องกันได้อีกทางหนึ่ง อีกทั้งเพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนไทยทุกคน จากมหันตภัยพิษร้ายจากบุหรี่ไฟฟ้า  โดยได้สัมมนาให้ความรู้กับ คณะทำงานด้านการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงผู้อำนวยการ สวท. และ สทท. ไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จากงานครั้งนั้น มีข้อเสนอให้จัดการสัมมนาให้ข้อมูล ความรู้กับบุคลากรระดับปฏิบัติการในสังกัดของกรมประชาสัมพันธ์ เพิ่มเติม เพื่อสามารถนำข้อมูลสื่อสาร เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ส่งต่อถึงเด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนในพื้นที่ ได้รับรู้ถึงพิษภัยของการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า  

ด้าน ศ.นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ  ประธานมูลนิธิรณรงค์เพรื่อการไม่สูบบุหรี่  กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี พ.ศ.2564 พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปล่าสุด เท่ากับ ร้อยละ 17.4 มีจำนวนผู้สูบบุหรี่เท่ากับ 9.9 ล้านคน หากมองภาพรวมของประเทศลดลงจากรอบสำรวจที่ผ่านมา แต่ที่ยังน่าเป็นห่วง คือ อัตราการสูบบุหรี่ของภาคอีสานสูงเป็นอันดับสองของประเทศไทยรองจากภาคใต้ และยังมีปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าขยายวงกว้างไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเด็กและเยาวชน  ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่เด็กและเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า จะเกิดการเสพติดนิโคตินสารเสพติดตัวเดียวกันกับที่มีอยู่ในบุหรี่ธรรมดาไปตลอดชีวิต  นอกจากนี้   จากผลการสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย (Global Youth Tobacco Survey : GYTS) ปี 2565 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา ในกลุ่มนักเรียนอายุ 13-15 ปี 6,752 คน จากโรงเรียน 87 โรงทุกภูมิภาค พบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนเพิ่มเป็น 17.6% ในปี 2565 จากเดิมอยู่ที่ 3.3% ในปี 2558 เทียบเท่ากับเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า ที่สำคัญยังพบว่า มีผู้เริ่มใช้บุหรี่ไฟฟ้าอายุน้อยที่สุดอยู่ที่ 7 ปี จากกลยุทธ์การตลาดของบริษัทผู้ผลิตที่มุ่งเป้าเยาวชน สร้างภาพลักษณ์ให้บุหรี่ไฟฟ้าเหมือนของเล่น มีกลิ่นหอม และเยาวชนหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น  อีกทั้ง จากข้อมูลผลการสำรวจของ รศ.ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ อาจารย์และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยและวิชาการด้านการควบคุมยาสูบภาคเหนือ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เรื่อง   “การใช้บุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียนมัธยมศึกษา และการปรับตัวในการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ในสถานการณ์ การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าของครูในโรงเรียน” ระหว่างเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 โดยกลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 จำนวน 6,147 คน จาก 16 จังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งผลการศึกษาพบว่า 39.3% ไม่เชื่อว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด, 35.8% ไม่เชื่อว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าทำให้ปอดอักเสบรุนแรง (EVALI) และ 34.2% ไม่เชื่อว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลเสียต่อสมองและการเรียนรู้ ดังนั้นการปกป้องเด็กและเยาวชนให้รู้เท่าทันภัยบุหรี่ไฟฟ้าจึงเป็นสถานการณ์ที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน

ศ.นพ.ประกิต  กล่าวเพิ่มเติมว่า “เด็กที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ติดนิโคตินหนักกว่าเด็กที่สูบบุหรี่มวน มีความเสี่ยงที่เด็กจะไปสูบบุหรี่มวน หรือติดสิ่งเสพติดร้ายแรงชนิดอื่น ๆ นิโคตินมีอันตรายต่อสมองส่วนที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ สมาธิ และการควบคุมอารมณ์ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอาการซึมเศร้า นอกจากนี้ นิโคตินยังเป็นอันตรายต่อปอด หลอดเลือดและหัวใจในระยะยาว ที่น่ากังวล สารปรุงแต่งกลิ่นหอมที่ใช้ในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า เมื่อได้รับความร้อนจากแบตเตอรี่ในอุปกรณ์สูบบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้ปอดอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง และไอของบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสารก่อมะเร็งและโลหะหนัก เป็นอันตรายต่อพันธุกรรม (DNA) ของเนื้อเยื่อต่าง ๆ สามารถพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็ง สิ่งสำคัญคือพ่อ แม่ ผู้ปกครองต้องเป็นแบบอย่าง ไม่สูบบุหรี่ทุกชนิด เพื่อลดความเสี่ยงเด็กเสพติดบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า” 

ดังนั้น  การที่กรมประชาสัมพันธ์ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานด้านการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ เพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนจากการสเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ถือเป็นเรื่องที่จำเป็นและสมควรดำเนินการอย่างยิ่ง สอดคล้องกับ กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบโดยองค์การอนามัยโลก (WHO Framework Convention on Tobacco Control; WHO FCTC) มาตรา 12 ที่ระบุว่า การให้การศึกษา การสื่อสาร การฝึกอบรมและการสร้างจิตสำนึกของสาธารณชน  โดยใช้เครื่องมือสื่อสารทุกชนิดที่มีความเหมาะสม ประเทศสมาชิกใช้มาตรการต่าง ๆ ดำเนินการเพื่อส่งเสริมจิตสำนึกของประชาชนและให้ประชาชนได้ถึงข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อสุขภาพจาการบริโภคยาสูบและการสูดดมควันยาสูบรวมทั้งประโยชน์ที่จะได้รับจากการเลิกใช้ยาสูบ ซึ่งรวมถึงบุหรี่ไฟฟ้า ศ.นพ.ประกิต กล่าว

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  02-278-1828