แกนนำเครือข่ายเยาวชน 9 องค์กร เรียกร้องรัฐบาลให้บุหรี่ไฟฟ้ายังคงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไทยจากบุหรี่ไฟฟ้า



มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่                    

ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION

               

Press Release

ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ 

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2567

วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที

 

แกนนำเครือข่ายเยาวชน 9 องค์กร

เรียกร้องรัฐบาลให้บุหรี่ไฟฟ้ายังคงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไทยจากบุหรี่ไฟฟ้า

     วันนี้ (15 พฤศจิกายน 2567)  มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ในโอกาสที่ดำเนินงานก้าวเข้าสู่ปีที่ 39 จึงร่วมกับ ตัวแทนเครือข่ายเยาวชน 9 องค์กร โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการแถลงข่าว  “เสียงเยาวชน: ต้องการให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย” เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนมีเวทีสื่อสารให้สังคมและผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม ร่วมกันปกป้องเด็กและเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า ณ โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น จตุจักร กรุงเทพฯ

     ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า “จากการสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย (Global Youth Tobacco Survey: GYTS) ปี 2565 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา ในกลุ่มนักเรียนอายุ 13-15 ปี พบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มเป็น 17.6% ในปี 2565 จากเดิมอยู่ที่ 3.3% ในปี 2558 เทียบเท่ากับเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า และมีผู้เริ่มใช้บุหรี่ไฟฟ้าอายุน้อยที่สุดอยู่ที่ 7 ปี จากกลยุทธ์การตลาดของบริษัทผู้ผลิตที่มุ่งเป้าเยาวชน สร้างภาพลักษณ์ให้บุหรี่ไฟฟ้าเหมือนของเล่น มีกลิ่นหอม และเยาวชนหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนี้บุหรี่ไฟฟ้าระบาดรุนแรงในเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งปราบปรามผู้ที่ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้า  แต่ยังมีช่องว่างทำให้สินค้าแพร่กระจายทั้งทางตรงและออนไลน์ แม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย

     ด้าน นายภากูร กุลนาถไกรกิติ ประธานเครือข่ายเยาวชน Gen Z  โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา ๒  กรุงเทพฯ  กล่าวว่า “สถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบันที่เข้าถึงได้ง่าย เช่น การซื้อ-ขายทางออนไลน์ ร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าที่มีหน้าร้านตั้งอยู่ในตลาดและชุมชนที่เราอยู่ กลุ่มไลน์เฉพาะสำหรับซื้อ-ขายบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน จากสถานการณ์นี้ทำให้นักเรียนโรงเรียนเราใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น และมีเเนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต  ผมเชื่อว่า ถ้าบุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย  จะมีเพื่อน ๆ  พี่ น้อง โรงเรียนของเราเข้าถึงและใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน”  ในขณะที่ นางสาวกมลชนก เลี้ยงบำรุง กล่าวว่า “ในฐานะรองประธานฝ่ายดำเนินงานภายนอก Gen Z โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา ๒ จากการที่ได้ไปทำงานด้านยาเสพติดกับเด็กและเยาวชนของหน่วยงานภายนอก ทำให้ได้พูดคุยกับเพื่อน พี่ น้องต่างโรงเรียน พบว่า ในโรงเรียนของเพื่อน ๆ ก็มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าด้วยเหมือนกัน และมีเพิ่มมากขึ้นจากเมื่อก่อน ดังนั้น เราทั้งสองคนอยากเป็นตัวแทนเยาวชนทั่วประเทศ ส่งเสียงถึงผู้ใหญ่ที่ทำหน้าที่ออกกฎหมาย ขอให้ยังคงกฎหมายห้ามนำเข้า และห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า อีกทั้งให้มีการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มแข็ง เพื่อให้เด็กและเยาวชนอย่างพวกเรา เติบโตมาในสภาพเเวดล้อมและสังคมที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น”

     ด้าน นายอนวัช แจ่มจันทร์ ผู้ช่วยเลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวว่า “ยท. ได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร และอาสาสมัคร ยุว อสม. ในพื้นที่ กทม. เฝ้าระวังข้อมูลร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง พบว่าร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ามีความพยายามเลือกที่ตั้งร้านใกล้สถานศึกษา ถึง 72 ร้านค้า (ข้อมูลปี 2567) มีรัศมีใกล้สถานศึกษาเฉลี่ย 500 เมตร เฉพาะเขตดินแดง มีร้านบุหรี่ไฟฟ้าสูงที่สุด โดยบริเวณมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในเขตดินแดง พบมีร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าในรัศมี 300-500 เมตร สูงถึง 6 ร้าน เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทย ขาดการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจัง แม้ที่ผ่านมาจะมีการบังคับใช้กฎหมายต่อเนื่อง แต่ยังคงไม่เพียงพอที่จะปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนไทย จึงขอให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยท่านนายกรัฐมนตรี เร่งรัดการบังคับใช้กฎหมายต่อไป”

     ขณะที่ นายจตุพล จันทร์มล เครือข่ายนักสื่อสารรุ่นใหม่ กล่าวว่า “การให้ความรู้เรื่องพิษภัย อันตรายของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็กและเยาวชน รวมถึงครู ผู้ปกครอง และชุมชน เป็นสิ่งจำเป็นอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพ ความรุนแรงของโรคที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เกี่ยวข้อง  ทั้งนี้ ยังต้องช่วยกันชี้ให้เห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้เป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพหรือช่วยลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ตามที่บางคนเข้าใจ แต่กลับเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาที่อาจลุกลามและกระทบต่อสังคมไทยในระยะยาว เขาเน้นว่าการให้ความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าเป็นวิธีการที่สามารถช่วยป้องกันและลดจำนวนผู้เสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในสังคมได้ เพราะเรามั่นใจว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่ทางเลือกสุขภาพ แต่คือประตูสู่ปัญหาของสังคมไทย“

     ด้าน นางสาวรัตนาภรณ์ พันธ์พิริยะ ผู้กำกับดูแลสำนักป้องกันปัจจัยเสี่ยงและพิทักษ์สิทธิ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า “สถานการณ์ปัญหาด้านสุขภาพที่เด็กและเยาวชนสะท้อนออกมา คือ ปัญหาสารเสพติด ในเด็กและเยาวชน เช่น กัญชา กระท่อม และบุหรี่ไฟฟ้าที่แพร่ระบาดในเด็กและเยาวชนส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจ ทั้งนี้ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยจึงนำมติจากสมัชชาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.2566 มีข้อเสนอให้รัฐบาลดำเนินนโยบายในการแก้ไขปัญหา การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด การดำเนินการสกัดกั้นการลักลอบขายทุกช่องทาง ระบบส่วย ภาษี อุปถัมภ์หรือผลประโยชน์ทับซ้อนให้สิ้นซาก ดังนั้น จึงอยากให้ทางรัฐบาลและหน่วยงานรัฐ ตระหนักและเร่งแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในสังคมไทย โดยเฉพาะยังต้องคงไว้ซึ่งกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ขณะเดียวกันก็จำเป็นที่จะต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะบนสื่อออนไลน์ที่กำลังเป็นปัญหาในปัจจุบัน เพื่อความปลอดภัยของเด็กและเยาวชน สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย จึงมีข้อเสนอดังนี้

1. ขอให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

2. ขอให้คงไว้ซึ่งกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเป็นมาตรการที่ดีในการป้องกัน เด็กและเยาวชนจากการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า

3. ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการสร้างสื่อที่สร้างความเข้าใจและผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้า

4. ขอให้สถานศึกษาดูแลและเคร่งครัดในการสร้างพื้นที่ปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า

จึงขอให้รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหา การเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชน เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชน”

     ด้านตัวแทนเครือข่ายนิสิตนักศึกษาแพทย์ ซึ่งประกอบด้วย นศพ.วิชญ์ เจนสุขทรัพย์ คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) อดีตนายกสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติ ประเทศไทย (IFMSA-Thailand) นศพ.ณัฐนันทภูมิ ฉายไพโรจน์ ชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ นศพ.สิรวิชญ์ กิจนพ ชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  มองถึงปัญหาที่เกิดจากผลกระทบการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าว่า นอกจากมีผลกระทบโดยตรงที่ก่อให้เกิดความสูญเสียด้านสุขภาพ  สังคม และยังก่อให้เกิดภาระค่ารักษาพยาบาลที่ตามมาต่อครอบครัวของผู้ป่วยเองอย่างมหาศาล  ตัวอย่างเช่น  ข้อมูลที่ รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยงานวิจัยใหม่จากสหรัฐอเมริกา โดยคณะนักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก ที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Tobacco Control ซึ่งเป็นวารสารชั้นนำระดับโลกด้านการควบคุมยาสูบเมื่อ 23 พฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นการศึกษาที่พัฒนาโมเดลทางเศรษฐศาสตร์เพื่อประมาณค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่ต้องใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าอายุ 18 ปีขึ้นไปในสหรัฐอเมริกา  เผยค่ารักษาพยาบาลจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึงปีละกว่า 5 แสนล้านบาท สูงกว่ารายได้จากภาษีบุหรี่ไฟฟ้าที่ได้เพียง 300 ล้านบาท เฉลี่ยคนสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีค่าผู้ใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น 70,000 บาทต่อคน  และผลการศึกษาพบว่า ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่ต้องใช้เพื่อรักษาพยาบาลผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึง 1.51 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (ประมาณ 5 แสนล้านบาท) แบ่งเป็นกลุ่มที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเดียว 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท) และกลุ่มที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าร่วมกับผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่น ๆ ซึ่งพบมากกว่าผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวถึง 17.5 เท่า 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ(ประมาณ 4 แสนล้านบาท)”

     

ในขณะที่ นายฮารีส  มาศชาย  ศูนย์สร้างสรรค์สื่อเพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัว และ นายฮาซีม เถาวัลย์ ตัวแทนเครือข่ายเยาวชนโตไปไม่สูบ กล่าวปิดท้ายว่า  ในฐานะตัวแทนเครือข่ายเยาวชน ทั้ง 9 องค์กรที่มาร่วมกันในวันนี้  ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในการปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า  โดยพวกเรามีข้อเรียกร้องของภาคีเครือข่ายเยาวชน ที่ร่วมกันเสนอไว้ ในเวทีประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 22  เมื่อวันที่ 2  สิงหาคม 2567ที่ผ่านมา  ณ  โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี  ดังนี้

1. ขอให้รัฐบาลคงไว้ซึ่งนโยบายห้ามนำเข้าและห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มการกำกับดูแล และมีการควบคุม รวมถึงป้องกันการแทรกแซงนโยบายของบริษัทบุหรี่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

2. ขอให้ภาครัฐและผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายดำเนินการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมาย จับกุมร้านค้าหรือผู้ที่ลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง และอาจหาแนวทางเพิ่มบทลงโทษให้สูงขึ้น รวมถึงเฝ้าระวัง และควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จของอุตสาหกรรมของบุหรี่ไฟฟ้า

3. ขอให้รัฐบาลและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษา ครอบครัว และชุมชน เร่งสร้างความรู้เกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปรวมถึง ให้เพิ่มเนื้อหาความรู้ เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าในหลักสูตรการศึกษาหรือจัดให้มีกิจกรรมเสริมหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง

4. ขอให้ภาครัฐและกระทรวงที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการดำเนินงานด้านการวิจัย และการจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพของ เด็ก เยาวชน และประชาชน รวมถึงนำผลการวิจัยไปใช้ในการปรับปรุงนโยบายและกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า

 

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ

นางสาวชวาลา ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม ผู้ช่วยผู้จัดการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  081-4585877/02-2781828

topic

  • กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ ลดการอยู่โรงพยาบาลของเด็กที่เป็นหืด
  • อินโดนีเซียเข้าร่วมสัญญาควบคุมยาสูบ
  • สพฐ.จับมือเครือข่ายครู และกระทรวงสาธารณสุข ขยายผลสร้างโรงเรียนปลอดบุหรี่ทั่วประเทศ
  • มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จัดเวทีสรุปบทเรียน เนื่องในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 38 ของการควบคุมการบริโภคยาสูบไทย
  • ควันบุหรี่มือสอง คร่าชีวิตคนไทยปีละกว่า 20,000 ราย งานวิจัยใหม่ยืนยันสูดควันบุหรี่มือสองเสี่ยงมะเร็งเต้านม
  • แกนนำเครือข่ายเยาวชน 9 องค์กร เรียกร้องรัฐบาลให้บุหรี่ไฟฟ้ายังคงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไทยจากบุหรี่ไฟฟ้า
  • สื่อในสังกัดสำนักประชาสัมพันธ์ภาคใต้เขต 5 และ 6 ขานรับนโยบาย กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมสื่อสารข้อมูล เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า
  • บทเรียน ยกเลิกการห้ามขายและประเทศที่ให้ขายได้แต่ควบคุมมาตรฐานบุหรี่ไฟฟ้า และการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบโดยบริษัทบุหรี่
  • 5 องค์กรร่วมต่อต้านการสูบบุหรี่ไฟฟ้า: เน้นการศึกษาข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์กำหนดแนวทางการสื่อสาร
  • 14 ราชวิทยาลัยวิชาชีพแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมแถลงการณ์ “หมอไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” ในวันแพทย์ไทย