วอนสังคม พ่อแม่ ผู้ปกครอง ร่วมปกป้องลูกหลานจากควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า



มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่                    

ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION

               

Press Release

ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

วันที่  18 มีนาคม 2568

วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที

 

วอนสังคม พ่อแม่ ผู้ปกครอง

ร่วมปกป้องลูกหลานจากควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า

กรุงเทพฯ - วันนี้ (18 มีนาคม 2568) มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จัดเสวนา  “ร่วมปกป้องเด็กเล็กจากควันบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า” เพื่อเสริมสร้างความตระหนักและเรียกร้องให้สังคมและผู้ปกครองร่วมกันปกป้องเด็ก ๆ จากภัยของควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า และอย่ายอมให้ลูกหลานกลายเป็นเหยื่อเสพติดนิโคตินจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ (มสบ.) ได้ดำเนินโครงการสร้างค่านิยมที่ไม่สูบบุหรี่ในบ้านเพื่อปกป้อง เด็กเล็ก (Gen Alpha) คือกลุ่มเด็กแรกเกิดจนถึง 7 ปี จากการได้รับควันบุหรี่ในบ้าน โดยได้จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ผ่านสื่อรณรงค์กล่องออมสินสำหรับเด็ก ในหัวข้อ “ค่าบุหรี่ของพ่อ หนูขอเป็นค่าขนม” ร่วมกับภาคีเครือข่ายครูศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน สังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อสนับสนุนให้ ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน รวมถึงผู้ปกครอง เข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ปกป้องเด็กเล็กจากควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า และที่สำคัญเพื่อให้เด็กเล็กมีบทบาทเป็นนักรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  ซึ่งจะนำไปสู่การมีเจตคติที่ถูกต้องต่อพฤติกรรมการไม่สูบบุหรี่ จากข้อมูลการสำรวจการสูบบุหรี่ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2564  พบว่า ค่าใช้จ่ายที่เสียไปกับบุหรี่ไฟฟ้า เฉลี่ยต่อเดือน สูงถึง 718 บาท ซึ่งเทียบกับรายได้ของคนที่จนที่สุดที่มีรายได้ต่อเดือนแค่ 1,043 บาท เท่านั้นเอง

ดังนั้น เพื่อเป็นการขยายผลกิจกรรมดังกล่าว และเพื่อให้ผู้ปกครองและครู ได้รู้เท่าทันโทษ พิษภัยของควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ที่มีต่อเด็กเล็ก และตระหนักถึงความสำคัญของการทำบ้านเด็กเล็กให้ปลอดจากควันบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ตลอดจนปลูกฝังให้เด็กเล็กเกิดเจตคติที่ไม่ดีต่อการสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จึงได้จัด เวที  “ร่วมปกป้องเด็กเล็กจากควันบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า” ขึ้น

ด้าน พญ.พิมพ์ชนก  จันทร์สวัสดิ์ กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) หนึ่งในวิทยากรที่ร่วมเสวนา ได้กล่าวว่า อันตรายและผลกระทบของควันบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้ามือสองต่อเด็ก น่าตกใจมากกว่าผู้ใหญ่  เนื่องจากมีความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าว่าเสพแล้วไม่ติดนั้น  ความจริง คือ บุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคติน ดังนั้นการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจึงทำให้ผู้สูบติดได้ไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดา รูปแบบและขั้นตอนในการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความใกล้เคียงกับการสูบบุหรี่มวน ทำให้ผู้สูบยังคงติดในพฤติกรรมการสูบเหมือนบุหรี่มวน โฆษณาของบุหรี่ไฟฟ้ามีการเน้นถึงข้อดีบางอย่างที่เหนือกว่าบุหรี่ เช่น การมีรสชาติที่หลากหลายกว่า ดีต่อสุขภาพมากกว่า 

 

 

มีรูปลักษณ์ที่ดูทันสมัยและหลากหลายกว่า ไม่มีกลิ่นเหม็น ดึงดูดและทำให้ผู้สูบมีแนวโน้มที่จะติดกับการสูบได้มากขึ้น  ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นการโกหกหลอกลวงผู้บริโภคทั้งสิ้น 

พญ.พิมพ์ชนก กล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่เด็กทารกและเด็กเล็กเสี่ยงต่อควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพราะปอดและระบบภูมิคุ้มกันของเด็กยังไม่พัฒนาเต็มที่ ทำให้ไม่สามารถต่อสู้กับสารพิษได้ดีเท่าผู้ใหญ่  และเด็กมีอัตราการหายใจเร็วกว่า ทำให้สูดดมสารพิษเข้าไปในปริมาณมากกว่า ซึ่งหากเด็กได้รับควันมือสองจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมาก ในระยะสั้นจะทำให้โรคหืดและภูมิแพ้กำเริบ เกิดโรคปอดอักเสบที่สัมพันธ์กับบุหรี่ไฟฟ้า  ในระยะยาวจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรม  มีสมรรถภาพปอดเสื่อมถอย  ปริมาตรปอดลดลงและก่อให้เกิดมะเร็งปอด  ในขณะที่ผลของบุหรี่ไฟฟ้ามีผลต่อระบบประสาทต่อเด็กและเยาวชนในทุกช่วงอายุ  ส่งผลเสียต่อสมาธิ ความจำ การคิดวิเคราะห์ การควบคุมอารมณ์ การพัฒนาระบบประสาทและสมอง  รวมถึงทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าอีกด้วย 

นอกจากนี้ ผู้ที่เริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่อายุยังน้อย มีแนวโน้มที่จะใช้สารเสพติดชนิดอื่น ดังนั้นการเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า และส่งเสริมกระจายความรู้ในวงกว้าง  อีกทั้งผู้ปกครอง, ครู และบุคลากรทางสาธารณสุขควรหมั่นสอดส่องดูแล ตักเตือนถึงโทษภัย รวมถึงเป็นตัวอย่างที่ดีโดยการไม่สูบบุหรี่ หรือบุหรี่ไฟฟ้า และเข้มงวดกับมาตรการให้สถานศึกษาและสถานพยาบาลเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า   มีการเฝ้าระวังการเข้าถึงและการใช้บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน  พญ.พิมพ์ชนก กล่าว 

 

ขณะที่ นางสาวอลิสษา ยูนุช นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ สำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า บทบาทการทำงานของกรุงเทพมหานคร มีแนวทางการขยายผลและหนุนเสริมการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กเล็กในการปกป้องจากอันตรายของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า มีนโยบาย โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีการกำหนดมาตรการแนวทางปฏิบัติ  เพื่อการเฝ้าระวังควบคุมป้องกัน สร้างทัศนคติการไม่ยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า และแก้ไขปัญหาที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้า กำหนดแนวทางการประชาสัมพันธ์สื่อสารสาธารณะ เพื่อรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าที่ถูกต้องให้กับเด็ก เยาวชนและประชาชน อีกทั้งยังส่งเสริมและสนับสนุนการบำบัดรักษาผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า  และสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า  แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติงานตามที่มอบหมาย  รวมถึงปฏิบัติการอื่นใดตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมอบหมาย และในปี 2568 นี้ จะเร่งสร้างและขยายความรู้เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเด็ก เยาวชนและประชาชน ให้เข้าใจถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อกระชากหน้ากากที่หลอกลวงให้เด็กและผู้ปกครองเข้าใจถึงข้อเท็จจริงที่อันตรายต่อไป

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  จัดงานเสวนาดังกล่าว ขึ้น โดยเชิญบุคลากรจากศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในสังกัด ซึ่งประกอบด้วย หัวหน้าศูนย์ฯ และ/หรือ คุณครูผู้แลเด็ก  พร้อมด้วยผู้ปกครอง และเด็กเล็ก เข้าร่วมงานดังกล่าว จำนวน 79 คน จากจากศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน สังกัด กรุงเทพมหานคร จำนวน 16 แห่ง เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการลดการสัมผัสกับควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กเล็ก รวมถึงการสร้างมาตรการป้องกันอย่างจริงจังจากสังคมรอบข้าง ทั้งจากการควบคุมการสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะและการศึกษาผลกระทบจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า จึงขอเชิญชวนพ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมถึงประชาชนทั่วไปมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมที่ปลอดภัยจากควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า โดยร่วมกันปกป้องสุขภาพของเด็ก ๆ จากภัยที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ นางสาวอังคณา มานุจัม มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โทร. 02-278-1828

topic

  • ภาคีองค์กรร่วมบูรณาการขับเคลื่อนบ้านปลอดบุหรี่สู่งานประจำ
  • รวมพลังภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ 14 จังหวัดภาคใต้ ร่วมประกาศเจตนารมณ์ “คนใต้ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า”
  • รวมพลังภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ 17 จังหวัดภาคเหนือ ร่วมประกาศเจตนารมณ์ “คนเหนือไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า”
  • ภาคีเครือข่ายด้านควบคุมยาสูบ 10 จังหวัดต้นแบบ บูรณาการงานร่วมปกป้องเด็กจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า หลังพบเด็ก เยาวชน สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า
  • แพทย์และนักวิชาการเตือน “วัยรุ่นหญิงไทย กำลังตกเป็นเหยื่อบุหรี่ไฟฟ้า”
  • ท้องถิ่นไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า
  • วอนสังคม พ่อแม่ ผู้ปกครอง ร่วมปกป้องลูกหลานจากควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า
  • กกท. กทม. สสส. สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดกรุงเทพมหานคร และมูลนิธิรณรงค์เพื่อไม่สูบบุหรี่ ผนึกกำลังประกาศก้อง การกีฬาไทย (ไม่เอา) บุหรี่ไฟฟ้า