ทักษะ อปท. ช่วยคนเลิกบุหรี่ "สั้น ซํ้า สมํ่าเสมอ"
คอลัมน์ : อปท.เพื่อท้องถิ่นปลอดบุหรี่
อปท. ผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานรณรงค์ควบคุมยาสูบในท้องถิ่น และในหนึ่งบทบาทสำคัญคือ การช่วยบำบัดคนสูบบุหรี่ ด้วยมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เห็นถึงความสำคัญจึงได้จัดให้มี "การอบรมพัฒนาทักษะส่วนบุคคล ในการบำบัดโรคติดยาสูบ" ภายใต้การขับเคลื่อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปลอดบุหรี่ต้นแบบจำนวน 2 รุ่น
รุ่นแรกจัดเมื่อวันที่ 28 - 29 ตุลาคม จำนวน 55 คนใน 7 จังหวัด 9 พื้นที่ ณ โรงแรมอมารีดอนเมือง กรุงเทพฯ และรุ่นที่ 2 เมื่อวันที่ 21 - 22 พฤศจิกายน จำนวน 30 คน ใน 5 พื้นที่ 4 จังหวัดภาคอีสาน คือร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ชัยภูมิ มหาสารคาม ณ โรงแรมพูลแมน จังหวัดขอนแก่น
กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้นำหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่รับผิดขอบงานยาเสพติดด้านสาธารณสุข พยาบาล เภสัช เจ้าหน้าที่ รพ.สต. อสม.และคุณครู เพื่อให้เกิดครู ก ที่มีความรู้และความสามารถในการบำบัดโรคติดยาสูบ สามารถส่งต่อองค์ความรู้และแนวทางการปฏิบัติให้กับทีมคณะทำงาน เพื่อร่วมกันปฏิบัติงานในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยจะได้รับทักษะจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและเชี่ยวชาญหลักสูตรเรื่อง "การบำบัดผู้ติดยาสูบ" ผศ.พว.กรองจิต วาทีสาธกกิจ ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรมจะได้ทักษะและเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการช่วยเลิก แบบการมองด้วยใจ ฟังด้วยใจ การเรียนรู้เพื่อรัก การรู้จักตนเอง และผู้อื่น การฝึกปฏิบัติการให้คำแนะนำแบบกระชับ (brief advise) โดยสถานการณ์จำลองผู้ป่วยโรคเสพติดยาสูบในระยะต่างๆ 3 ระยะหลักคือ ระยะไม่ต้องการเลิก ระยะลังเลใจที่จะเลิก ระยะพร้อมเลิก ระยะกำลังเลิกแต่มีแนวโน้มจะกลับไปสูบใหม่ ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และกลุ่มพิเศษอื่นๆ
หลักการช่วยคนเลิกสูบบุหรี่สรุปได้ คือ
1.มีความจริงใจ เห็นใจ และเข้าใจคนสูบ เป็นมิตรมีเจตคติที่ดีต่อคนสูบบุหรี่
2.มีความอดทนในการช่วยให้เขาเลิก แม้จะต้องใช้เวลานานก็ตาม
3.มีหัวใจที่จะให้ ไม่คาดหวังหรือคาดคั้นว่าเขาต้องเลิกได้
4.ขอเพียงได้ทำ ขอเพียงได้พูด (แบบให้กำลังใจ) และขอเพียงได้ดูแล (ถึงจะยังเลิกไม่ได้ก็ตาม)
ซึ่ง อจ กรองจิตได้แนะนำเคล็ดลับในการพูดกับคนสูบบุหรี่ เอาไว้อย่างดีและได้ผลคือ "ฟังด้วยหัวใจ สร้างแรงจูงใจ หาเรื่องชื่นชม และมีความหวังว่าเขาจะเลิกสูบได้สำเร็จ"
กิจกรรมสร้างกระแสในชุมชนพื้นที่รับผิดชอบ ก็มีความสำคัญ ทำอย่างไร ? ทำแบบไหน? ทำกับใคร? นั่นเป็นโจทก์สำคัญ จำเป็นต้องช่วยกันระดมความคิด พร้อมที่จะกลับไปทำ 3 เรื่องในพื้นที่รับผิดชอบ คือ สร้างกระแสช่วยเลิก การป้องกันนักสูบหน้าใหม่ และกระแสสร้างค่านิยมไม่สูบบุหรี่
หลังจบการอบรมครั้งนี้ ทุกท่านจะได้รับใบประกาศนียบัตรการฝึกอบรมและกำลังใจ ซึ่งจะเป็นการการันตีให้ทุกท่านกลับไปช่วยบำบัดคนที่ติดยาสูบในพื้นที่ได้อย่างภาคภูมิใจ "เพราะการช่วยให้คนเลิกบุหรี่ได้ 1 คน เป็นการช่วยชีวิตและส่งเสริมสุขภาพของคนได้นับร้อย แรงจูงใจ : หัวใจสำคัญของการช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่"
ข้อมูลโดย สุขสันต์ เสลานนท์ กองบรรณาธิการ Smartonline
วันที่ 25 พฤศจิกาายน 2562