อปท. : คืออนาคตและความหวังการควบคุมยาสูบในท้องถิ่น
คอลัมน์ผู้นำมาเล่า
ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผู้อำนวยการ พศย. ได้แสดงความคิดเห็นต่อการอบรมนักขับเคลื่อนนโยบายด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบในครั้งนี้ว่า "ได้เล็งเห็นบทบาทและหน้าที่สำคัญของ อปท. ผู้ซึ่งเป็นผู้นำที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนในท้องถิ่น เป็นการจำลองการบริหารงานจากศูนย์กลางกระจายอำนาจการบริหารไปสู่ท้องถิ่น ซึ่งสามารถสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี"
คุณบังอร ฤทธิภักดี ผู้อำนวการมูลนิธิเพื่อสังคมอาเซียนปลอดบุหรี่ ได้กล่าวถึงหลักสูตรนี้ว่า "ต้องการให้ผู้เข้าร่วมเปลี่ยนวิธีคิดและรูปแบบในการขับเคลื่อนงานด้านควบคุมยาสูบ จากการมุ่งให้ความรู้ (Educate) หรือการเปลี่ยนทัศนคติพฤติกรรม เป็นการสนับสนุน (Advocate) มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบหรือนโยบาย"
อปท.ที่เข้าร่วมอบรม จะได้รับข้อมูลสถานการณ์การสูบบุหรี่ในประเทศไทย จาก ดร.ศรัณญา เบญจกุล จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาลัยมหิดล และการชี้แจงในข้อกฎหมายใหม่ เพื่อการปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะได้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ จากนายจิระวัฒน์ อยู่สะบาย หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและบังคับใช้กฎหมาย สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ
ตลอดกระบวนการผู้เข้าร่วมเห็นภาพของการขับเคลื่อนนโยบาย ในระดับท้องถิ่น ว่าหากมีนโยบายที่ผู้บริหารกำหนดเป็นมาตรการร่วมกันของท้องถิ่น จะช่วยให้คณะทำงานสามารถขับเคลื่อนกิจกรรมได้มาก และได้ผลยิ่งขึ้น เพราะจะเกิดความร่วมมือในทุกภาคส่วน อย่างเช่นต้นแบบที่เกิดขึ้นแล้วในหลายๆ จังหวัด อย่างเช่นที่ได้เกิดต้นแบบที่เป็นจริงอย่างจังหวัดนครนายก และจังหวัดอุทัยธานี ที่จังหวัดกระบี่ รวมถึง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น
และคาดหวังว่าในการอบรมครั้งนี้ จะทำให้ อปท.เห็นภาพการขับเคลื่อนงานการควบคุมยาสูบ ซึ่งมูลนิธิรณรงค์ฯ พร้อมสนับสนุนให้เกิดพื้นที่เรียนรู้เพื่อสร้างพลังในการขับเคลื่อนนโยบายด้านควบคุมยาสูบในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลโดย อุรพี จุลิมาศาสตร์ กองบรรณาธิการ Smartonline
วันที่ 22 มิถุนายน 2560