อินโดนีเซียแชมป์สิงห์อมควัน
คอลัมน์เก็บมาฝาก
ธนาคารโลกระบุว่า อินโดนีเซียมีอัตราผู้ชายสูบบุหรี่มากที่สุดในเอเซีย 76% ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคภัยที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ในแดนอิเหนาอยู่ที่ราว 0.29% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ตามด้วยลาวที่ผู้ชายสูบบุหรี่ 57% สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยอายุเริ่มต้นสูบอยู่ที่ 13-15 ปีเท่านั้น เกาหลีใต้ครองอันดับ 3 ผู้ชายตกเป็นทาสบุหรี่ 50% การเสียชีวิตจากยาสูบคิดเป็นปีละ 21.4%
ส่วนจีนซึ่งตระหนักว่า ยอดสิงห์อมควันในประเทศเพิ่มมากขึ้นทุกที จึงลงนามในกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบก่อน ประเทศอื่นๆ นานมาก ด้วยหวังลดการสูบในประเทศ แต่ตัวเลขก็ยังสูงที่ 48% ครองอันดับ 4 ของเอเซีย
ตามด้วยเวียดนาม 47% ชายเวียดนามเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวกับบุหรี่ 22% แม้เมื่อเร็วๆ นี้การสูบใบจากในเวียดนามจะลดลง แต่ยังไม่มากเท่าที่คาดกันไว้ ส่วนในกัมพูชาที่ห้ามการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะและที่ทำงาน แต่ผู้ชายยังสูบบุหรี่ 44% ในมาเลเซียซึ่งลงนามในกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบมานานแล้ว และห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ตัวเลขยังอยู่ที่ 43% เท่ากับฟิลลิปปินส์ ซึ่งมีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อเร็วๆ นี้ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เพิ่งลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารห้ามการสูบบุหรี่ ทั้งในและนอกอาคาร รวมทั้งห้ามโฆษณาและส่งเสริมการสูบ ถือเป็นกฎหมายต่อต้านยาสูบที่เข้มงวดที่สุดในภูมิภาค ส่วนไทยมีผู้ชายสูบบุหรี่ 41% ซึ่งรัฐบาลเพิ่งออกกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ปี 2560 เป็นกฎหมายฉบับล่าสุด
ในญี่ปุ่น ผู้ชายสูบบุหรี่ 34% คร่าชีวิตประชาชนปีละ 15,000 คน ส่วนเมียนมา ซึ่งไม่ใช่ตลาดหลักของอุตสาหกรรมยาสูบมาก่อน แต่เมื่อ รัฐบาลเริ่มปฏิรูปประเทศเปอร์เซ็นต์คนสูบเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผู้ชายสูบบุหรี่ 32% เชื่อว่าบริษัทบุหรี่ รายใหญ่ของโลกจะต้องใช้กลยุทธ์อันซับซ้อน เพิ่มการบริโภคยาสูบในประเทศนี้
ที่สิงคโปร์ซึ่งประกาศกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ มาตั้งแต่ปี 2513 ประกอบกับ การบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ อัตราชายสูบบุหรี่แดนลอดช่องอยู่ที่ 28% เท่ากับศรีลังกา รองลงมาคือ อินเดีย 20% น้อยกว่าเพื่อนบ้านอย่างปากีสถานที่ 42% บังกลาเทศ 40% เนปาล 37%
ทั้งนี้ ผลประโยชน์ที่ได้จากอุตสาหกรรมบุหรี่ ขัดขวางประเทศทั้งหลายไม่ให้เดินหน้าควบคุมการสูบยาสูบอย่างจริงจัง องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ประเมินว่า บุหรี่คร่าชีวิตประชาชนทั่วโลกปีละ 6 ล้านคน สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจหลายล้านล้านดอลลาร์ แต่แนวโน้มหลายประเทศในเอเซียยังดูสิ้นหวัง สิงห์อมควันกว่า 30% ของโลกอยู่ในภูมิภาคนี้ 80% มาจากประชากรผู้มีรายได้น้อย
อินโดนีเซียมีอัตราผู้ชายสูบบุหรี่มากที่สุดในเอเซีย 76% ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคภัยเกี่ยวข้องกับบุหรี่ในแดนอิเหนาอยู่ที่ราว 0.29% ของจีดีพี
ข้อมูลโดย : กองบรรณาธิการ Smartonline
วันที่ 19 กันยายน 2560