"สูบไปทำไม" บทความพิเศษ หนังกับบุหรี่ ตอนที่ 1

คอลัมน์บทความพิเศษ "หนังกับบุหรี่"

จากการศึกษาของ ศาสตราจารย์สแตนตัน แกลนซ์ แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซึ่งสำรวจหนัง 5 เรื่องที่อยู่ในกลุ่มหนังทำเงิน 20 อันดับแรกในช่วงปี 2533-2539 พบว่า มีอัตราการสูบบุหรี่ของตัวแสดงในหนังถึงร้อยละ 57 ขณะที่อัตราการสูบบุหรี่ในชีวิตจริงมีเพียงร้อยละ 14 ความถี่ในการนำเสนอฉากสูบบุหรี่มีสูงขึ้น จากหนังในช่วงปี 2513-2523 โผล่ทุกๆ 10-15 นาทีโดยเฉลี่ย แต่พอปี 2533 เป็นต้นมากลับถี่ขึ้นเป็นทุกๆ 3-5 นาที

ความสัมพันธ์ของวัยรุ่นสูบบุหรี่กับฉากสูบบุหรี่ในหนัง (จากการสำรวจเด็กอเมริกันวัย 9-15 ปี 5,000 คน ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ของอังกฤษ) พบว่า เด็กวัยรุ่นที่เห็นการสูบบุหรี่ในหนัง 150 ครั้งขึ้นไป (ในโรงภาพยนตร์ วิดีโอ และโทรทัศน์ ร้อยละ 31 เคยลองสูบบุหรี่มาแล้ว ในขณะที่เด็กซึ่งเห็นการสูบบุหรี่ในหนังไม่ถึง 50 ครั้ง มีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่เคยลองสูบบุหรี่

นอกจากนี้ผลการวิจัยของ ดร.มาร์วิน โกลเบอร์ก เกี่ยวกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของวัยรุ่นไทย ยังย้ำอีกว่า วัยรุ่นไทยที่ได้ดูฉากสูบบุหรี่ในหนังฮอลลีวูดนั้น มีความเสี่ยงสูงต่อการเริ่มลองบุหรี่ 

จำนวนหนังไทยทั้งหมด 19 เรื่องที่ออกฉายในปี 2545 มีบุหรี่โผล่หน้ามาแจมด้วยถึง 14 เรื่อง และตัวละครที่สูบบุหรี่มากที่สุดคือ "ตัวเอก" โดยหนังทั้งหมดนี้มีเพียง 2 เรื่องเท่านั้น ที่พูดถึงพิษภัยของการสูบบุหรี่ ผลสำรวจชี้ว่าในบรรดาวัยรุ่นที่ดูหนังฮอลลีวูดมากกว่า 3 เรื่องในช่วง 2 เดือนนั้น จะเคยทดลองสูบบุหรี่ ร้อยละ 25 

ติดตามอ่านตอนต่อไป บทความพิเศษ "หนังกับบุหรี่จากอดีตถึงปัจจุบัน" 

ข้อมูลจาก : หนังสือ "สูบไปทำไม" หนึ่งในโครงการ Smart Art Project " มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

โดย : สุขสันต์ เสลานนท์ กองบรรณาธิการ Smartonline วันที่ 9 ตุลาคม 2560