บุหรี่อาวุธร้ายข้างกายวัยรุ่น

คอลัมน์นานาทัศนะ

งานวิจัยที่ศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมการใช้บุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณล ปี พ.ศ.2559 โดยคุณจิตรลดา อารีย์สันติชัย และคุณอุษณีย์ พึ่งปาน สอดคล้องกับสถิติการสำรวจจำนวนผู้สูบบุหรี่ในเขตเมือง โดยพบว่า อายุเฉลี่ยที่เร่ิมสูบบุหรี่ ทั้งสองชนิดเป็นกลุ่มวัยรุ่นอายุ 16 ปีเท่ากัน สาเหตุที่เร่ิมสูบก็เหมือนกัน คือ อันดับแรกเกิดจากความอยากลอง อันดับต่อมา เริ่มเพราะเพื่อนชวน สาเหตุการใช้แตกต่างกัน คือ บุหรี่ไฟฟ้าเป็นของนอก ทันสมัย สูบแล้วรู้สึกเท่ 

กลุ่มตัวอย่างบางราย ระบุว่า เคยได้ยินคำโฆษณาชวนเชื่อที่ว่า บุหรี่ไฟฟ้าช่วยทำให้เลิกบุหรี่มวนธรรมดาได้ ให้เหตุผลว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่มีกล่ินเหม็นเหมือนบุหรี่ทั่วไป งานวิจัยชิ้นนี้ได้ตีแผ่ความจริงว่า กลุ่มตัวอย่างที่ได้ทดลองแล้วพบด้วยตนเองว่าอันที่จริงแล้ว บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์สามารถทำให้อดบุหรี่ธรรมดาได้นั้น ไม่เป็นเรื่องจริง เพราะพวกเขายังคงสูบทั้งบุหรี่ธรรมดา และบุหรี่ไฟฟ้า ควบคู่กันไป แล้วแต่เวลาและโอกาส บางคนก็กลับมาสูบบุหรี่ธรรมดาเหมือนเดิม 

"ในระยะยาว เด็กๆ ที่เริ่มทดลองจากบุหรี่ไฟฟ้าก็มีแนวโน้มที่จะไปสูบบุหรี่จริง ตัวเลขนี้สูงถึง 4 เท่า หลายคนบอกว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่มีนิโคติน ไม่มีสารเสพติด ซึ่งไม่จริงเลยในบุหรี่ 1 มวนมีปริมาณนิโคติน 1.2 มิลลิกรัม แต่บุหรี่ไฟฟ้ามีปริมาณนิโคตินที่เข้มข้นกว่ามากถึง 24 มิลลิกรัม นั่นทำให้ปริมาณนิโคติน เข้าสู่ร่างกายได้มากกว่าปรกติถึง 24 เท่า แล้วแบบนี้จะบอกว่าสูบแล้วไม่ติด ไม่มีพิษภัย ก็คงไม่ใช่ 

 

ในงานวิจัยนี้ ยังได้ระบุอีกว่า วัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเกือบครึ่ง สูบเป็นครั้งคราว แต่วัยร่นุประมาณ 1 ใน 4 สูบเป็นประจำทุกวัน และร้อยละ 90 สูบในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีบางคนต้องสูบภายใน 5 นาทีหลังตื่นนอน 

ประเด็นค่านิยม กระแสของสังคมวัยรุ่นที่เริ่มหันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้ากันมากขึ้น กลไกการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้ามีการวางแผนกลยุทธ์การขายไม่ต่างจากการทำแผนการตลาดสินค้าอุปโภคและบริโภค ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่น่ากังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกปัจจุบันที่สังคมออนไลน์มีอิทธิพลต่อวัยรุ่นเป็นอย่างมาก 

ประเทศไทยมีการขายผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่นี้ ในแหล่งขายต่างๆ อาทิ ตลาดนัดกลางวัน ตลาดนัดกลางคืน ตลาดนัดริมถนน โดยในปี พ.ศ.2557 พบ 14 แหล่งขายใน กทม. ที่เป็นแหล่งขายผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของผู้ขายคือกลุ่มวัยรุ่น โดยผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ยอดนิยมคือ บารากุ่ไฟฟ้า ชนิดใช้แล้วทิ้ง เพราะเป็นสินค้าใหม่และราคาถูก 

ในปี พ.ศ.2558 แหล่งร้านค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่มีการหยุดชะงักและเลิกขายไป หลังจากมีประกาศของกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2557 เป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้าในราชอาณาจักร รวมทั้ง มีประกาศสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) พ.ศ.2558 มีคำสั่ง ห้ามขาย และห้ามให้บริการบารากู่ บารากู่ไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้า และตัวยา น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ และบุหรี่ไฟฟ้า 

การบังคับใช้กฎหมายทั้งสองมาตรการ ทำให้การวางจำหน่ายยาสูบรูปแบบใหม่เหล่านี้หยุะชะงักไป แต่การขายก็เริ่ม กลับมาเช่นเดิม

 

ล่าสุดในเดือนมกราคม พ.ศ.2560 พบว่า แหล่งขายใน กทม.ที่เป็นแหล่งขายผลิตภัณฑ์ยาสูบ ผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ มีเพิ่มมากขึ้นกว่า 14 แหล่งขายเดิม มีการขายที่ตลาดนัดกลางคืนยอดนิยมหใม่ๆ ที่เปิดใหม่จำนวนมาก 

สถานการณ์เหล่านี้ เป็นที่น่าวิตกกังวลมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน และนักสูบหน้าใหม่ เดิมจากที่บริษัทขายบุหรี่ขายกันได้อย่างถูกกฎหมาย ก็เหมือนยื่นอาวุธให้ แต่วันนี้บุหรี่ไฟฟ้าที่อยู่ในตลาดมืด เป็นเหมือนแจกปืนให้เด็กแล้ว การสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช้การตายอย่างช้าๆ แต่เป็นการตายง่ายๆ แบบไม่รู้ตัวเลย ด้วยปริมาณสารเสพติดที่ไปทำลายระบบประสาท และถ้าจะให้พูดจริงๆ นิโคติน มันเป็นสารเสพติด จะใช้ปริมาณแค่ไหนมันก็ติด เพราะฉะนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องมาตั้งแต่ต้ การครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย 

เรียบเรียงข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

โดยกองบรรณาธิการ Smartonline วันที่ 14 ตุลาคม 2560