Time Regained (Le Temps retrouve')
คอลัมน์พลักหมึก
หนังนำ แคธเธอรีน เดอเนิฟ เอมมานูแอล บาร์ธ และจอห์น มัลโควิชมาพบกันในหนังที่ดูยากที่สุดเรื่องหนึ่ง ดูสองรอบก็อาจจะยังไม่เข้าใจเนื้อเรื่อง
เหตุเพราะไม่มีเนื้อเรื่อง มีแต่ชีวิตที่ล่องลอยดั่งควันบุหรี่
หนังสร้างจากนวนิยายเรื่องสุดท้าย Time Regained ของนวนิยายขนาดยาวมาก 7 เล่ม จบเรื่อง In Search of Lost Time เขียนโดย Marcel Proust
Marcel Proust 1871-1922 เป็นนักเขียนชาวฝรั่งเศสคนสำคัญในตอนต้นศตวรรษที่ 20 นวนิยาย In Search of Lost Time ได้ชื่อว่าเป็นวรรณกรรมแห่งศตวรรษ เขียนเสร็จไม่เรียบร้อยและได้รับการตีพิมพ์ครบหลังการตายของเขา ฉบับแปลภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า Remembrance of Things Past
นวนิยายยาว 3,000 - 4,000 หน้า มีตัวละครเป็นร้อย ธีมของเรื่องคือ involuntary memory
ความจำที่อยู่นอกเหนืออำนาจของจิตใจหรือ involuntary memory หมายถึงความจำในอดีตที่ผุดบังเกิดเป็นครั้งๆ ในชีวิตประจำวัน เมื่อเราทำอะไรหรือพบเห็นอะไรบางอย่าง เรื่องที่เขาเขียนนี้มีส่วนคล้ายคลึงกับงานจิตวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอย์ (Sigmund Freud 1856 - 1939) ที่ว่าด้วยจิตใต้สำนึกโดยที่ทั้งสองคนไม่เคยอ่านงานของกันและกัน
หนังเล่าเรื่องนักเขียนที่ป่วยใกล้ตายใช้ชีวิตบนเตียง เหมือนเป็นชีวิตช่วงสุดท้ายของมาร์เซล เพราส์ท นักเขียนในหนังจะบอกคำให้สตรีที่คอยดูแลช่วยบันทึกเรื่องเล่าของเขา เธอชื่อ Ce'leste ชื่อเดียวกันกับสตรีที่ดูแลเพราส์ทในวาระสุดท้าย
นักเขียนเล่าเรื่องไม่ปะติดปะต่อ คงเพราะไอโขลกๆ ตัวโยนด้วย ความจำไม่ต่อเนื่องด้วย แล้วหนังก็เล่าเรืื่องไม่ปะติดปะต่อพอๆ กัน เป็นความทรงจำที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของนักเขียน ผสมปนเปไปมาระหว่างบุคคลต่าง ๆ เหตุการณ์ต่าง ๆ มีทั้งที่น่าจะเป็นความจำของเขา แต่บางส่วนเหมือนความฝันมากกว่า
หนังแฝงประเด็นความบาดเจ็บเพราะการพลัดพรากจากแม่ คือ Separation anxiety เหมือนชีวิตของเพราส์ท และประเด็นโฮโมเซ็กส์ช่วลเหมือนชีวิตของเพราส์ทอีกเช่นกัน
เรื่องความทรงจำนี้เป็นเรื่องน่าตลกสำหรับคนที่อ้างว่าตนเองจำได้แม่นยำ เพราะที่แท้แล้วคนเราจำผิดบ่อยกว่าที่ตัวเองรู้สึกมาก โดยเฉพาะอย่างย่ิงความจำในอดีตไกลแสนไกลหรือแม้กระทั่งไม่ต้องไกลมาก
ความทรงจำของคนเราถูกรบกวนด้วยจิตใต้สำนึกเสมอ และหลายครั้งเราจำได้เพียงบรรยากาศสี กล่ิน หรืออารมณ์ในขณะนั้น ครั้นเวลาผ่านไปเดินไปพบสิ่งเร้าบางประการที่กระตุ้นความจำ เราก็จะเปิดล้ินชักแห่งความทรงจำออกมาเขียนเรื่องราวและต่อเติมเรื่องราวโดยไม่ทันระวัง จากนั้นกดบันทึกเอาไว้เหมือนการบันทึกเอกสารในเครื่องคอมพิวเตอร์
พอเปิดลิ้นชักครั้งต่อไป ความทรงจำนั้นก็ไม่เหมือนเดิมอีก
ลับเฉพาะ จากปากคำของบริษัทบุหรี่ "ภาพการสูบบุหรี่ที่ปรากฎในภาพยนตร์ดีกว่า การทำโฆษณาในโทรทัศน์ และนิตยสารมากมาย เพราะผู้ชมภาพยนตร์แทบจะไม่รู้สึกเลยว่ามีการโฆษณาแอบแฝงเข้ามา"
จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม หนังทุกเรื่องจึงต้องมีการสูบบุหรี่ หรือการปรากฎตัวของบุหรี่ในหนัง
ข้อมูลโดย : นพ.ประเสิรฐ ผลิตผลการพิมพ์ บรรณาธิการ Smartonline
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560