บทบาทเชิงรุกของผู้นำท้องถิ่น
คอลัมน์เก็บมาฝาก
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ (พศย.) และ มูลนิธิเพื่อสังคมอาเซียนปลอดบุหรี่ (SEATCA) โดยการสนับสนุน สสส. จัดให้มีการประชุมผู้นำท้องถิ่น เรื่องบทบาทเชิงรุกขององค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) โดยมีวัตถุประสงค์แลกเปลี่ยนบทเรียนและข้อมูลที่จำเป็นในการดำเนินงานมาเป็นแนวทางที่ อปท. จะมีบทบาทเชิงรุกเพื่อคนรุ่นใหม่ไม่สูบบุหรี่และแลกเปลี่ยนบทเรียน ข้อมูลที่จำเป็นในการดำเนินงาน
จากการสำรวจ ในปี 2557 พบว่า ปัจจุบันสัดส่วนนักสูบหน้าใหม่จำแนกตามอายุเมื่อเริ่มต้นสูบบุหรี่ครั้งแรก โดยมีเด็กอายุ 15-18 ปี ติดบุหรี่แล้วถึง 353,898 คน ดังนั้น การป้องกันเด็กไม่ให้เริ่มสูบจึงสำคัญมาก และพบอีกว่า เขตเทศบาลมีอัตราการสูบบุหรี่ 3.5 ล้านคนหรือ 17 % และเขตชนบท จำนวน 8.9 ล้านคน สะท้อนให้เห็นว่าการแก้ปัญหาการสูบบุหรี่ที่ผ่านมาเข้าไม่ถึงพื้นที่ชนบท หาก อปท. ที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนนั้น ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมสนับสนุนการแก้ปัญหาจะทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ได้มากขึ้น นำไปสู่การลดการบริโภคยาสูบ โจทย์สำคัญของการประชุมจึงอยู่ที่ อปท. จะใช้จุดแข็งที่ตนเองมี ร่วมกับการใช้ประโยชน์จากระบบการสนับสนุนงบประมาณจากภายนอกสู่ท้องถิ่นได้อย่างไร
นพ.บุญเติม ตันสุรัตน์ ที่ปรึกษา สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ กล่าวถึงการสนับสนุนงบประมาณ ในส่วนของ สปสช. มีงบประมาณเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้กลุ่มองค์กรประชาชนดำเนินกิจกรรมด้านสาธารณสุขในพื้นที่ แบ่งตามกลุ่ม คือ กลุ่มแม่และเด็ก กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนพิการ และกลุ่มผู้ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยง และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งสถานการณ์เงินคงเหลือของกองทุนที่แบ่งเป็นรายเขต 12 เขตนั้น เกือบครึ่งหนึ่งของงบในแต่ละเขตยังไม่ถูกนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ ทำให้การดำเนินงานมีผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพได้น้อย
ดร.ชลธาร วิศรุตวงศ์ สรรพสามิตพื้นที่สมุทรปราการ 1 ได้เปิดเผยถึง ข้อมูลส่วนของสรรพสามิตพื้นที่ว่า สรรพสามิตมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ซึ่งจัดเก็บจากสินค้าและบริการเฉพาะอย่าง เพื่อวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1. หารายได้เข้ารัฐ และ 2. จำกัดการบริโภคสินค้าและบริการบางชนิด โดยภาษีสรรพสามิตทำให้สินค้าราคาสูงขึ้นและส่งผลให้ปริมาณการบริโภคสินค้าลดลง แต่การทำให้สินค้าสุราและยาสูบสูงขึ้น เป็นผลดีเพราะจะช่วยลดการบริโภคสุราและยาสูบ อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษียาสูบ เพิ่งระบุให้เก็บเพิ่มในพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ซึ่งแต่ละ อปท. จะต้องไปออกข้อบัญญัติให้ กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีให้ ร้อยละ 10 ก่อน ซึ่งหากดำเนินการแล้วน่าจะทำให้ อปท. มีเงินในการดำเนินกิจกรรมในพื้นที่เพิ่มอีก ปีละกว่า 6,000 ล้านบาท
การดำเนินงานของ อปท. เพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบในพื้นที่ มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ บางพื้นที่มีการจัดตั้งคณะทำงานของเทศบาลเพื่อดูแลเรื่องนี้โดยตรง อาทิ เทศบาลเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม เทศบาลตำบลปริก จังหวัดสงขลา และเทศบาลเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา โดยหวังว่าข้อมูลจากการประชุมผู้นำท้องถิ่นในครั้งนี้ จะส่งผลให้ผู้นำท้องถิ่นอีก 12 แห่ง ที่ให้เกียรติสละเวลามาเข้าร่วมและแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินการของพื้นที่ตนเองได้นำไปต่อองค์ความรู้และกลยุทธ์เชิงรุกเข้าไปในพื้นที่ของตนเอง เพื่อคนรุ่นใหม่ไม่สูบบุหรี่
ข้อมูลโดย อุรพี จุลิมาศาสตร์ กองบรรณาธิการ Smartonline
วันที่ 20 ธันวาคม 2560