"ความรัก" จุดเปลี่ยน เลิกบุหรี่เพื่อลูก
คอลัมน์ : แขกรับเชิญ
อาจารย์ ดร.เชิดศักดิ์ เกื้อรักษ์ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง จบการศึกษาเกี่ยวกับทางด้านป่าไม้ แต่มีความสนใจพิเศษด้านภูมิปัญญาชุมชน วัฒนธรรมท้องถิ่น มูลนิธิรณรงค์ฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อปรึกษาการใช้สื่อวัฒนธรรมท้องถิ่นมารณรงค์เรื่องบุหรี่ และอาจารย์ได้เล่าประสบการณ์การสูบบุหรี่และกำลังใจสำคัญที่ทำให้การเลิกบุหรี่ของตัวเองสำเร็จเพื่อเป็นวิทยาทาน ทั้งๆ ที่เป็นคนสูบบุหรี่จัดมากถึงวันละ 3 ซอง แล้วมาหักดิบได้ เพราะอะไร เพราะใคร อ่านบทสัมภาษณ์จากอาจารย์กันค่ะ
มูลนิธิรณรงค์ฯ : อยากทราบว่า อาจารย์เริ่มสูบบุหรี่ตอนไหน และสูบกี่มวนต่อวัน
อาจารย์ : "เร่ิมสูบจริงๆ ตอน ม.3 แรกๆ ก็สนุก ตามเพื่อนชีวิตสังคมชนบท ไม่มีอะไรทำ เห็นเพื่อนลองเราก็เอาบ้าง ทีนี้ก็เรื่มสะสม เริ่มติดจริงจังตอนปริญญาตรี สูบบุหรี่ 4-5 มวนต่อวัน ในช่วงนั้นเริ่มสนุกๆ ช่วงชีวิตของการทำงานต้องไปทำงานในพื้นที่ป่า รอบข้างมีแต่ป่าทั้งหมดเลย เพื่อนร่วมงานก็มีผู้ชายและวัยรุ่นด้วย ไม่มีอะไรทำก็สูบบุหรี่ และมาหนักสุดผมว่า 3 ซองต่อวัน เฉลี่ยแล้วเงินดือนหมดไปกับค่าบุหรี่ ซื้อแจก ซื้อเผื่อเพื่อนๆ ตอนนั้นเราคิดว่าใจดี มาคิดๆ ดู เราไปทำร้ายเค้านี่หว่า (หัวเราะ)
มูลนิธิรณรงค์ฯ : สูบวันละ 3 ซอง อาจารย์มีปัญหาสุขภาพบ้างไหม?
อาจารย์ : ไม่รู้ว่าข้างในเป็นอย่างไร? แต่เราก็ออกกำลังกาย เป็นนักกีฬา และยังหนุ่มอยู่ด้วย คิดไปเองว่า บุหรี่ทำอะไรเราไม่ได้หลอก แต่วันหนึ่งเริ่มรู้สึกเวลาทำงานจะเหนื่อยง่าย เร่ิมรู้ตัวบ้าง แต่นั่นไม่ใช่จุดเปลี่ยนยังคงสูบมาเรื่อยๆ ถามว่าจุดเปลี่ยนจริงๆตอนไหน คือตอนมีภรรยาก็ยังแอบๆ อยู่ เริ่มเปลี่ยนลดลงเยอะเลยนะครับ เหลือวันละ 10 มวนบ้าง ลงมา 4 มวนบ้าง ไม่สูบมากเหมือนเมื่อก่อน แอบแฟนสูบ ยังไม่เลิกเสียทีเดียว
วันหนึ่งเมื่อมีลูก เริ่มรู้เลยว่าเราเป็นห่วงลูก พอเห็นใครสูบบุหรี่ใกล้ๆ ลูก หรือสูบแล้วมาอยู่ใกล้ เราจะรู้สึกไม่พอใจ เป็นห่วงลูกว่าจะได้กล่ินเหม็นของบุหรี่
มูลนิธิรณรงค์ : ก่อนมีลูกเรามีความคิดแบบนั้นมั๊ยว่า "ห่วงคนที่ไม่สูบ" หรือ "เด็กเล็กๆ" ที่จะได้รับควันบุหรี่ที่มีคนสูบอยู่ใกล้ๆ
อาจารย์ : ยอมรับจริงๆ เลยว่า เอ๊ะ ทำไมเดินงานตามเทศกาลต่างๆ พาลูกไปเที่ยวคนสูบบุหรี่ เรามีความรู้สึก เฮ้ย! นี่เราเคยทำตัวแย่ขนาดนั้นเลยเหรอ โดยเฉพาะคนใต้ การสูบบุหรี่เป็นเรื่องปกติธรรมดา เป็นวิถีชีวิตไปแล้ว ไม่ว่า งานบุญ จะสูบที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้
มูลนิธิรณรงค์ฯ : แสดงว่าจุดเปลี่ยนของอาจารย์ ก็คือ "ความรักลูก" นั่นเป็นเหตุผลสำคัญ
อาจารย์ : ใช่เราหวงลูก ไม่อยากให้เค้าได้กลิ่นเหม็นของบุหรี่ ตัดสินใจหักดิบเลย บางคนเลิกบุหรี่เป็น 20 ครั้ง เราเลิกโดยไม่ต้องมีใครขอร้อง หักดิบเลิกเลย พอเลิกได้แล้วกลายเป็นคนเหม็นบุหรี่ เห็นคนสูบบุหรี่แล้วทำให้นึกย้อนถึงตอนที่สูบ เราไม่ได้คิดถึงคนอื่นเลยว่าเค้าจะเหม็นหรือไปกลิ่นควัน ผมบอกเลย "ความรักเป็นจุดเปลี่ยน"
มูลนิธิรณรงค์ฯ : อยากให้อาจารย์ฝากไปถึงคนที่คิดจะเลิกบุหรี่ และยังเลิกไม่ได้ อยากให้กำลังใจเขาอย่างไร?
อาจารย์ : ผมว่า การเลิกบุหรี่ ตัดสินใจเลิก ก็เลิกเลย ไม่ต้องมาค่อยๆ ลด หรือใช้ยาช่วย ผมว่าไม่ได้ผล ต้องหักดิบเลย ใช้ความรัก เอาความรักเป็นตัวตั้งแล้วหักเลย พอมีอะไรอยากสูบขึ้นมาก็หันไป "มองหน้าลูก" มันคือ "ยาวิเศษ" เชื่อสิคุณทำได้ ไม่ต้องไปพึ่งยาอย่างอื่นเลย
นี่คือตัวอย่างดีๆ ของคนที่มีประสบการณ์ตรงจากการสูบบุหรี่ เรียกว่าสูบหนักมาก แต่ก็สามารถเลิกสูบได้ โดยใช้พลังแห่งความรักเป็นจุดเปลี่ยนในการหันหลังให้กับบุหรี่อย่างเด็ดขาด พลังความรักที่มีต่อลูก ต่อคนที่รักในครอบครัว เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและเป็นต้นแบบดี ๆ ในการเลิกสูบบุหรี่
ข้อมูลและสัมภาษณ์โดย : เพ็ญประภา ชิระกุล กองบรรณาธิการ smartonline
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561