หมอลำรวมพลัง พาชิ่งบุหรี่ ชวนปลอดควันในบ้าน
คอลัมน์ : เรื่องเล่าสื่อท้องถ่ิน
ชมรมสื่อมวลชนสีขาว จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จัดแถลงข่าว "โครงการสื่อวัฒนธรรมหมอลำร่วมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่" เพื่อเชิญชวนคนไทยไม่สูบบุหรี่ในบ้าน และปกป้องเด็กและเยาวชนจากการติดบุหรี่
นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ประธานในงานและร่วมแถลงข่าวได้กล่าวว่า หมอลำเป็นศิลปะการขับร้องเพลงพื้นบ้านและเป็นการแสดงพื้นบ้านของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สร้างความบันเทิงให้แก่คนในชุมชนและกล่อมเกลาสังคม รวมทั้ง เป็นสื่อที่ถือเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่ได้รับความสนใจและสืบทอดมาอย่างยาวนาน
ผมในฐานะพ่อเมือง ขอชื่นชมสื่อมวลชนสีขาว และศิลปินแห่งชาติ ศิลปินหมอลำทุกท่าน ในจังหวัดอุบลราชธานี และมูลนิธิรณรงค์ฯ ที่เห็นความสำคัญของหมอลำในการสื่อสารรณรงค์การไม่สูบบุหรี่ได้ ร่วมกันจัดกิจกรรมสื่อวัฒนธรรมหมอลำรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ในการใช้เป็นช่องทางการให้ข้อมูลเกี่ยวกับพิษภัยบุหรี่ และชวนเลิกสูบบุหรี่กับกลุ่มประชาชนในระดับชุมชน ที่มีอัตราการสูบบุหรี่ที่สูงให้ตระหนักถึงความสำคัญของการเลิกสูบบุหรี่ และร่วมกันการรณรงค์ป้องกันการเริ่มสูบบุหรี่ของกลุ่มเยาวชนที่เป็นลูกหลานของท่านเอง ซึ่งจะเป็นการลดอัตราการสูบบุหรี่ในจังหวัดอุบลราชธานี
น.ส.ปิยะวรรณ เกษเสนา ประธานชมรมสื่อมวลชนสีขาว กล่าวว่า ทางชมรมมีความยินดีและรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ทางมูลนิธิรณรงค์ฯ ที่เห็นความสำคัญของวัฒนธรรมหมอลำซึ่งถือเป็นศิลปวัฒนธรรมของไทยที่ทรงคุณค่า ทางชมรมได้ขอความร่วมมือให้ ศิลปินแห่งชาติและศิลปินหมอลำที่มีชื่อเสียง อาทิ บานเย็น รากแก่น ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม ผศ.ดร.ทินกร ผศ.ดร.ศิริเพ็ญ อัตไพบูลย์ นพดล ดวงพร อังคณางค์ สุนิตา คุณไชย เฉลิมพล มาลาคำ อรวรรณ พงษ์ภาพ ดอกรัก ดวงมาลา ร่วมกันแต่งเนื้อร้องทำนองลำ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการรณรงค์ถึงพิษภัยบุหรี่รวมถึงการเชิญชวนไม่ให้สูบบุหรี่ในบ้าน สามารถติดตามฟังผลงานได้ทางสถานีวิทยุท้องถิ่นของจังหวัดอุบลราชธานีและเครือข่ายสื่อมวลชนทั่วประเทศ
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า การสำรวจ อัตราการสูบบุหรี่ในจังหวัดอุบลราชธานี ปี พ.ศ.2558 อยู่ที่ร้อยละ 21.53 หรือจำนวน 290,757 คน ซึ่งโดยสถิติแล้วหนึ่งในสามของคนที่สูบบุหรี่ระยะยาว จะเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลาจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุข และเป็นสาเหตุการเจ็บป่วย และเสียชีวิตก่อนเวลา สิ่งสำคัญคือ การสกัดเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าสู่วงจรของการเสพติดบุหรี่ เพราะเด็ก 10 คนเริ่มสูบและติดแล้วมีเพียง 3 คนที่จะเลิกได้ อีก 7 คนจะติดไปตลอดชีวิต การทำบ้านให้ปลอดบุหรี่ช่วยให้คนในบ้านไม่ต้องได้รับควันบุหรี่ ลดโอกาสที่ลูกจะติดบุหรี่ คนสูบบุหรี่จะสูบน้อยลงหรือเลิกสูบง่ายขึ้น
ข้อมูลโดย วัลภา แก้วศรี กองบรรณาธิการ Smartonline
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561