"คนทำงานสำคัญที่ทัศนคติ"
คอลัมน์ : พลังหมึก
กระแสละครตอนนี้ ไม่มีใครไม่รู้จัก และติดปากกับ "ออเจ้า" จากละครบุพเพสันนิวาส ต้องยอมรับว่ากระแสดีมาก ๆ
หากย้อนกลับไปเมื่อสี่ห้าปีที่แล้ว กระแสซีรี่ส์ "Homones วัยว้าวุ่น" ก็เป็นกระแสไม่แพ้ "ออเจ้า" ในปัจจุบันเหมือนกัน ฮอร์โมนเป็นละครชุด ผลิตโดยจีทีเอชและนาดาวบางกอก สร้างเรื่องและเขียนบทโดยทรงยศ สุขมากอนันต์ เป็นเรื่องราวที่นำมาจากชีวิตของวัยรุ่นไทยจริงๆ สะท้อนชีวิตวัยรุ่นไทยยุคใหม่แบบทุกซอกทุกมุม ถ่ายทอดผ่านชีวิตวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง ที่ล้วนมีความต่างเจอเรื่องราวมากมายไม่ซ้ำกัน แต่ไม่ว่าชีวิตของพวกเขาจะพบเจออะไร สุดท้ายพวกเขาจะได้เรียนรู้ผลของการกระทำ ก้าวผ่านมัน และเติบโตขึ้นในที่สุด
ทรงยศ สุขมากอนันต์ แจ้งเกิดเป็น 1 ใน 6 ผู้กำกับภาพยนตร์แฟนฉัน ที่โด่งดังมากๆ ปัจจุบันเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ โปรดิวเซอร์ และผู้บริหารบริษัทนาดาว บางกอก ผลิตผลงานออกมามากมาย และติดกระแสไปเสียทุกเรื่อง อาทิ ซีรี่ส์ stay ซากะฉันจะคิดถึงเธอ Homones วัยว้าวุ่น ภาพยนตร์ Top Secret วัยรุ่นพันล้าน ห้าแพร่ง ตอน Backpocker ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น และเด็กหอ
มีแง่มุมดีๆ ในการคิดที่จะผลิตละครสะท้อนสังคม (ดีๆ)
เป็นกระแสขึ้นมาว่า ซีรี่ส์จากค่ายนาดาว บางกอก เปลี่ยนแปลงวงการละครโทรทัศน์ไทย ทำละครสะท้อนสังคมไทยโดยเฉพาะปัญหาของวัยรุ่น ซึ่ง "ทรงยศ" ชี้แจงว่า "ตอนเราทำซี่รี่ส์ไม่ได้คิดว่าจะเปลี่ยนแปลงวงการมาก แต่ทำงานอะไรก็ตาม เราจะใส่ทัศนคติของเราลงไป"
อย่างเรื่อง "ฮอร์โมน" กว่าจะผ่านปัญหาวัยรุ่น เราจะต้องเข้าใจกันก่อนว่า ส่วนใหญ่มันตั้งแต่มาจากปัญหาครอบครัว ด้วยแอดติจูดของเราแบบนี้ เราเลยทำฮอร์โมนออกมา ซึ่งเราก็คิดว่าผู้ใหญ่จะเข้าใจ จริง ๆ ผู้ใหญ่ในสังคมไทยเปิดกว้างกว่าที่เราคิด เขาเข้าใจเราว่าทำสิ่งนี้ ดังนั้นเวลาเราทำงานจะให้ผู้กำกับ คนเขียนบท ใส่แอดติจูดของเขาอย่างเต็มที่"
สำหรับคำว่าละครสะท้อนสังคม ทรงยศ มีมุมมองที่ห่วงการใช้คำนี้ "ละครสะท้อนสังคมเหมือนคำแชะ เพราะละครที่เล่าเรื่องดีๆ ตรงๆ สะท้อนดีๆ ก็มีจริง ไม่อยากให้เอาไปบิดเบือนเข้าใจผิด ผมยังเชื่อว่าแอดติจูดของคนทำงาน มีทัศนคติ ดูผ่านงานของเรา เชื่อว่าถ้าคนทำงานมีทัศนคติอะไรจะออกมาในงานของเขา ละครสามารถทำให้คนดูได้เรียนรู้และเติบโตไปกับมันได้
ผมทำฮอร์โมนก็ทำจากเจตนาที่ดี อยากทำให้ผู้ใหญ่เข้าใจวัยรุ่น ซึ่งตรงนี้เราก็ได้เรียนรู้ผิดถูกไปกับมัน คือในพาร์ตหนึ่งเราให้ไผ่ (ตัวละครในเรื่อง) ต่อยกับสไปร์ท มีอะไรกับผู้ชายหลายคน เราได้เรียนรู้ว่ามันเป็นดาบสองคม ที่เด็กวัยรุ่นอาจจะนำเอาไปเป็นตัวอย่างเลียนแบบได้เป็นต้น
พอทำฮอร์โมน ซีซั่่น 2 เราระวังมากขึ้น อย่างเช่นการสูบบุหรี่ เราสื่อให้เห็นถึงตอนพ่อหมอกเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ ทำให้หมอกเลิกสูบบุหรี่ พอมาถึงฮอร์โมน ซีซั่น 3 ไม่มีตัวละครสูบบุหรี่
ในฐานะคนทำสื่อเราก็เรียนรู้ไปด้วย ไม่ใช่การทำงานของเราจะไม่มีผิดพลาด แต่เมื่อพลาดเรายอมรับ และพร้อมที่จะแก้ไข
เมื่อมีทัศนคติและแรงบันดาลใจในการทำงานแบบนี้ ผลงานที่จะเห็นทางหน้าจอโทรทัศน์หรือผลงานภาพยนตร์จากฝีมือ ทรงยศ จึงมั่นใจได้อย่างหนึ่งว่า เราจะได้เห็นมิติใหม่ ๆ ของคน โดยเฉพาะมุมของวัยรุ่น ที่ผู้กำกับคนนี้ให้ความสนใจ
เพราะวัยรุ่นเชื่อมโยงกับคนทุกวัย โยงใยถึงรากฐานครอบครัว และสังคมที่หล่อหลอม
หลายๆ คนคงผ่านตาสปอตรณรงค์ของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ คอนเซปต์ของสปอตนี้ ทรงยศ มาช่วยคิดร่วมกับมุลนิธิฯ เพื่อสื่อสารกับเด็กรุ่นใหม่ "ในเรื่อง Gen Z Gen Strong" เลือกได้ เลือกไม่สูบบุหรี่ ได้ใช้รณรงค์กับเด็ก Gen Z และ Gen ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อ ๆ ไป ซึ่งก็สื่อสารออกมาแบบให้ลอง ให้เลือก ว่าจะเอาแบบไหน เป็นสปอตที่ถูกใจวัยรุ่น วัยรุ่นโดน เข้าใจง่าย
ถือเป็นคนหนุ่มไฟแรง และอนาคตไกล ที่มีทัศนคติดี ๆ ในการผลิตผลงานออกมาแต่ละชิ้น จะคิดและคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับสังคม และสะท้อนปัญหาสังคมได้ดีทีเดียว เชื่อว่า หากหลาย ๆ ภาคส่วนช่วยกันรับผิดชอบในหน้าที่และบทบาทที่จะทำให้สังคมเราดีขึ้น ก็น่าจะเป็นนิิมิตหมายที่ดีให้กับสังคมไทยและประเทศไทยต่อไปในอนาคต ....
ข้อมูลโดย กองบรรณาธิการ Smartonline
วันที่ 21 มีนาคม 2561