สวท.ภาคใต้ ร่วมถก ร่วมแก้ปัญหา ลดนักสูบหน้าใหม่
คอลัมน์ : บทบาทสื่อมวลชนขับเคลื่อนงานยาสูบ
เมื่อวันที่ 19-20 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จัดสัมมนาสื่อมวลชน สถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ภาคใต้ในเขต 5 และเขต 6 สังกัดกรมประชาสัมพันธ์ จำนวน 52 คน จาก 20 สถานี 11 จังหวัดที่โรงแรมบุรี ศรีภู อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
จากสถิติการสูบบุหรี่และการได้รับควันบุหรี่มือสองสูงสุดของประเทศ อัตราการสูบบุหรี่ลดลงน้อยที่สุด ในภาคใต้ร้อยละ 13.1 ภาคเหนือลดลงร้อยละ 43.3 ภาคอีสานร้อยละ 40.0 ภาคกลางร้อยละ 37 ค่าเฉลี่ยอัตราการลดลงของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 35.3 นั่นเป็นภาระกิจสำคัญของสื่อมวลชน ผู้มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้คนในภาคใต้รับทราบข้อมูลและร่วมกันลบสถิตินี้ให้หมดไป...
นายสัมพันธ์ มูซอดี ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 สงขลา ประธานในพิธีเปิดได้ร่วมรับฟังข้อมูล จึงได้กล่าวในการเปิดการสัมมนาว่า "หลังจากได้รับฟังถึงสถานการณ์การสูบบุหรี่แล้ว ตกใจมากว่าภาคใต้อยู่อันดับต้นๆ ในเรื่องของการสูบบุหรี่ และการได้รับควันบุหรี่มือสอง โดยเฉพาะอันตรายของควันบุหรี่ที่มีผลกระทบมากมายต่อเด็กและคนใกล้ชิด หลายๆ คนในห้องนี้ก็ได้พบกับสถานการณ์ตรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวของตัวเอง ดังนั้น เมื่อมูลนิธิรณรงค์ได้นำข้อมูลสถานการณ์การสูบบุหรี่มาบอกกล่าวให้ได้รับรู้กัน เราในฐานะสื่อมวลชนควรจะได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ต่อ และร่วมเป็นเครือข่ายในจังหวัดจัดกิจกรรมรณรงค์แทรกเข้าไปกับงานของสถานี เป็นการกระตุ้นให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเลิกบุหรี่ และอันตรายของควันบุหรี่ที่อันตรายร้ายแรงมากๆ ร่วมกันปกป้องเด็กไม่ให้เตกเป็นเหยื่อของการเสพติดบุหรี่ในอนาคต"
"ในส่วนของการรณรงค์กับศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า ในภาคใต้จะมีผู้นับถือศาสนาอิสลามเป็นจำนวมมาก การรณรงค์ให้มัสยิดหรือให้เลิกบุหรี่ น่าจะต้องทำควบคุุ่กันไป เพราะการสูบบุหรี่ในข้อห้ามของศาสนาอิสลามก็ถือว่าเป็นของที่ "ฮารอม" (คือเป็นโทษสูบแล้วทำร้ายร่างกาย) อยู่แล้ว"
การสัมมนาในครั้งนี้ ถือว่าเป็นความโชคดีมากๆ ที่ ผอ.สถานีทุกจังหวัดเข้าร่วมด้วยตลอดหนึ่งวันครึ่ง เป็นผลดีต่อการทำงานรณรงค์ ท่าน ผอ.เปิดทางไฟเขียวและพร้อมจัดผังช่วงเวลาสำหรับการรณรงค์ และสนับสนุนในทุกกิจกรรมที่ทางสถานีจะทำได้ อีกทั้งยังพร้อมประกาศให้สถานีเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ พร้อมที่จะเป็นแบบอย่างและตัวอย่างที่ดี เป็นสื่อบุคคล เป็นโลโก้ของนักรณรงค์ในพื้นที่ เพื่อการไม่สูบบุหรี่ให้กับลูกน้องและประชาชนทั่วๆ ไป
ในส่วนของหัวหน้าและเจ้าหน้าที่ ดีเจ ก็ปวรณาตัวที่จะเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่สูบบุหรี่ และร่วมเป็นนักรณรงค์ช่วย Gen Z ผ่านการจัดรายการ การจัดกิจกรรมประกวดดีเจน้อย จัดกิจกรรมกับวัย Gen Z ประกวดการทำอินโฟกราฟฟิก ประกวดการทำคลิปรณรงค์ฯ เพื่อนำผลงานเหล่านั้น มาใช้ในงานรณรงค์ในวาระต่างๆ เช่น วันงดสูบบุหรี่โลก วันยาเสพติด หรือวันเยาวชนแห่งชาติเป็นต้น ดีเจหลายๆ ท่านจะได้นำกิจกรรมรณรงค์เหล่านี้ไปผนวกกับอีเว้นท์ต่างๆ ด้วย นับเป็นความร่วมมือของ สวท. ทั้งระดับผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติการณ์ คิดว่าในเวลาอันใกล้นี้ อัตราการสูบบุหรี่ในภาคใต้จะค่อยๆ ลดลงมาอยู่อันดับที่ท้ายๆ จนในที่สุดการสูบบุหรี่ในภาคใต้หมดไป....เราขอสัญญา
มูลนิธิรณรรงค์ฯ ได้ยินอย่างนี้แล้ว รู้สึกดีใจ มีความยินดีและพร้อมที่จะสนับสนุนสื่อรณรงค์ องค์ความรู้ และวิทยากร อย่างเต็มแรงส์ เชื่อว่า "สังคมปลอดบุหรี่ได้ ถ้าทุกคนมีส่วนร่วม" จากสังคมเล็กๆ ในบ้าน สู่สังคมใหญ่ และสุ่ประเทศไทยปลอดบุหรี่.....นี่คือภารกิจสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
ข้อมูลโดย สุขสันต์ เสลานนท์ กองบรรณาธิการ Smartonline
วันที่ 23 มีนาคม 2561