การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในสถาบันอุดมศึกษา

คอลัมน์ : จับกระแส

สถานการณ์การสูบบุหรี่ในประเทศไทย ในปี พ.ศ.2534 -2558 พบว่า อัตราการบริโภคยาสูบของเยาวชนอายุระหว่าง 15-17 ปี ลดลงจากร้อยละ 12 ในปี พ.ศ.2534 เป็นร้อยละ 7.92 ในปี พ.ศ.2558 แต่ปี 2547 - ปี 2558 อัตราการบริโภคยาสูบกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 6.58 เป็นร้อยละ 7.92 (จำนวน 312,610 คนในปี พ.ศ.2558)

นพ.ฉันชาย สิทธิพันธ์ุ แพทย์ชำนาญพิเศษโรคปอดและทรวงอก โรงพยาบาลจุฬาฯ​ ได้เปิดเผยสถานการณ์การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในสถาบันอุดมศึกษา ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า คณะที่มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากที่สุดคือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และในนิสิตที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,000 บาท จากการสอบถามนักศึกษาให้เหตุผลในการสูบบุหรี่ไฟฟ้าว่าไม่มีอันตราย  เป็นเทรนด์ใหม่ รู้สึกเท่ ควันเยอะสามารถปรับระดับควันได้ด้วย 

ได้ข้อสรุปของการวิจัยนี้ 

1.คนที่สูบบุหรี่ธรรมดาใน 30 วันที่ผ่านมารวมถึงเคยสูบบุหรี่ธรรมดา มีโอกาสที่จะสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่าคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่ธรรมดาเลย 

2.คนที่ต้องการให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายส่วนมาก มีความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของบุหรี่ไฟฟ้า ในทางกลับกันคนที่ต้องการให้บุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายส่วนมากมีความเข้าใจที่ถูกต้อง 

3.มีแนวโน้มของการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้นในผู้ที่มีรายรับมากอย่างมีนัยสำคัญ 

ข้อเสนอแนะจากการวิจัยนี้ คือ 

1.เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาผลของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในระยะยาวจึงไม่สามารถทราบผลดี ผลเสียและผล กระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้งานได้ จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่จะติดตามผลการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในระยะยาว

2.มีผู้ตอบแบบสอบถามหลายคนใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพราะต้องการเลิกบุหรี่ธรรมดา แต่ยังมีข้อมูลจำกัดว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าสามารถทำให้เลิกบุหรี่ธรรมดาได้จริงหรือไม่

3.เนื่องจากในผู้เยาว์การใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะสูบบุหรี่ธรรมดาอย่างมีนัยสำคัญ และจากการสำรวจพบว่า การใช้บุหรี่ธรรมดาก็มีแนวโน้มที่จะใช้บุหรี่ไฟฟ้าด้วยเช่นกัน คณะผู้จัดทำคิดว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ใช้งานบุหรี่ประเภทหนึ่งหันไปใช้งานบุหรี่อีกประเภทคือติดฤทธิ์เสพติดของนิโคติน และด้วยความไม่ซ้ำซากจำเจของวิธีการนำนิโคตินเข้าร่างกาย รวมถึงความอยากรู้อยากลอง ทำให้เสมือนเพิ่มทางเลือกในการใช้นิโคตินให้แก่ผู้ใช้บุหรี่

4.เนื่องจากต้องใช้น้ำยาเพื่อใช้สูบบุหรี่ไฟฟ้าจึงเป็นที่น่าสนใจหากทางบริษัทผู้ผลิตน้ำยาลักลอบผสมสารอื่นด้วย เช่น สารที่ทำให้เกิดอันตรายหากสูดดม สารเสพติดประเภทอื่นๆ ปริมาณนิโคติน ไม่ตรงกับที่ระบุไว้รวมถึงกระบวนการผลิตอื่นๆ ที่ไม่ได้มาตรฐานอีกด้วย 

ในปัจจุบันมีความนิยมในการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นกระแสความนิยมในหลายๆ ด้าน และยังมีความเห็นขัดแย้ง ส่วนหนึ่งบอกว่า ช่วยทำให้เลิกบุหรี่ได้เร็วขึ้น แต่ในอีกกระแสหนึ่งก็บอกว่าถ้าจะเลิกบุหรี่ก็คือเลี่ยงไม่สูบบุหรี่จะดีกว่าไหม เพราะสุดท้ายแล้ว การสูบปอดก็ได้รับสารนิโคตินเหมือนกัน ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้านี้เป็นของใหม่ที่ยังไม่มีงานวิจัยรองรับ หรือยืนยันได้ว่ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยงจะดีกว่า   

ข้อมูลโดย : สุขสันต์ เสลานนท์ กองบรรณาธิการ Smartonline 

วันที่ 20 เมษายน 2561