บุหรี่ในหนัง...หนึ่งในกลยุทธ์ล่าเยาวชนให้ตกเป็นเหยื่อบุหรี่
คอลัมน์ : พลังหมึก
การใช้ชื่อบุหรี่เป็นผลิตภัณฑ์สินค้า การจัดทำและแจกสติกเกอร์ ที่มียี่ห้อเดียวกับบุหรี่และที่เห็นได้ชัด คือการสอดแทรกการสูบบุหรี่เข้าไปในบทละครและบทภาพยนตร์ เพราะบริษัทบุหรี่รู้ดีว่า หนังมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของวัยรุ่น
จากการเก็บข้อมูลโดยเฝ้าดูหนังอเมริกากว่า 350 เรื่องของกลุ่มชาวอเมริกันที่ใช้ชื่อกลุ่ม "Thumps up ! Thumps Down ! " พบว่า มีหนังถึงร้อยละ 88 มีฉากการสูบบุหรี่และยังพบว่าเนื้อหาของหนังเป็นการสนับสนุนการสูบบุหรี่ เช่น ร้อยละ 36 เป็นฉากการสูบบุหรี่แล้ว ผ่อนคลายร้อยละ 28 เป็นฉากที่เน้นให้เห็นถึงลักษณะอันน่าดึงดูดใจของผู้สูบ
สำหรับประเทศไทยถ้าหากเราสังเกตดูละคร หรือแม้แต่หนังในช่วงหลังๆ ตัวละครในเรื่องจะมีบทสูบบุหรี่เยอะมาก บางครั้งตัวละครคีบบุหรี่ไว้โดยไม่ได้สูบก็มีหรือมีการวางซองบุหรี่ไว้ แม้จะไม่มีบทสูบบุหรี่ก็ตาม เท่าที่สังเกตจะเป็นความบังเอิญ หรือความตั้งใจหรือไม่นั้นในเมืองไทยยังไม่มีหลักฐานที่จะชี้ขัดว่าบริษัทบุหรี่ได้ใช้เงินสนับสนุนให้มีฉากของบุหรี่หรือการสูบบุหรี่ในละครหรือหนังไทย
แต่จากเอกสารขององค์กรป้องกันมะเร็งแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ระบุว่า บริษัทบุหรี่ทุ่มเงินจำนวนมาก เพื่อให้สินค้าของตนเข้าฉาก เช่น
- บุหรี่ Lark จ่ายเงิน 350,000 ดอลลาร์ ให้กับหนังเรื่อง James Bond ตอน License to Kill
- บุหรี่ Marlboro จ่ายเงิน 42,000 ดอลลาร์ให้กับหนังเรื่อง Superman 2
- บุหรี่ Eve จ่ายเงิน 30,000 ดอลลาร์ ให้กับหนังเรื่อง Supergirl
- บุหรี่ Lucky Strike จ่ายเงิน 5,000 ดอลลาร์ ให้กับหนังเรื่อง Beverly Hills Cop
และจำนวนตัวละครที่สูบบุหรี่ในหนังเรื่องนั้นๆ มีเป็นจำนวนมากจนดูเหมือนกับว่าการสูบบุหรี่เป็นเรื่องปกติธรรมดา
ในขณะที่องค์กรรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ของทั่วโลกได้พยายามอย่างเต็มที่ที่จะรณรงค์สร้างค่านิยมที่ไม่สูบบุหรี่ บริษัทบุหรี่ก็ไม่ละความพยายามที่จะหานักสูบหน้าใหม่ คือ กลุ่มเยาวชนอย่างไม่หยุดยั้งเช่นกัน
สิ่งที่ทำได้ก็คือ การเฝ้าระวัง และรู้ให้ทันกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่เพื่อมิให้บริษัทบุหรี่หลอกใช้ ด้วยการให้เห็นโลโก้บุหรี่ในหนังและละคร
ข้อมูลจาก : หนังสือร้อยเล่ห์ เพทุบายบริษัทบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
วันที่ 7 พฤษภาคม 2561