สูบบุหรี่ในหนัง...ใครได้ใครเสีย...

คอลัมน์ : พลังหมึก

ปัจจุบันธุรกิจและความอยู่รอดมีบทบาทมากขึ้นในวงการของภาพยนตร์ และจะเป็นไปในลักษณะการทำธุรกิจแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน จึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทผู้ผลิตบุหรี่กับภาพยนตร์นับวันจะยิ่งแน่นแฟ้นขึ้นทุกที ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีบริษัทบุหรี่หลายยี่ห้อ ได้ให้เงินสนับสนุนในการผลิตภาพยนตร์ บางรายได้มีข้อตกลงทำสัญญายินยอมที่จะให้มีฉากสูบบุหรี่ หรือมีการจัดวางบุหรี่ยี่ห้อนั้นๆ ในภาพยนตร์โดยแลกเปลี่ยนกับเงินจำนวนมาก

ซิลเวสเตอร์ สตาโลน (Sylvester Stallone) ได้ทำสัญญากับบริษัทบุหรี่ Brown & Williamson ยินดีที่จะใช้บุหรี่ของบริษัทนี้ในภาพยนตร์ที่เขาเล่นไม่ต่ำกว่า 5 เรื่อง ซึ่งค่าจ้างสำหรับงานนี้มีมูลค่าสูงถึง 500,000 ดอลลาร์  

หลังจากที่มีกระแสตื่นตัวเพื่อต่อต้านการสูบบุหรี่มากขึ้น บริษัทบุหรี่ต่างก็พากันหากลวิธีที่จะโฆษณาสินค้าของตนอย่างเข้มข้นขึ้น การแอบแฝงโฆษณาในภาพยนตร์เร่ิมเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก (Prop) ประกอบท่าทางบทบาทของตัวแสดง ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่แยบยลมาก เนื่องจากไม่ผิดต่อกฎหมายการโฆษณาหรือข้อห้ามเรื่องเผยแพร่บุหรี่ผ่านทางสื่อต่างๆ และเป็นการยากที่บริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์จะปฏิเสธ โดยเฉพาะเมื่อไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและไม่ต้องมีข้อตกลงสัญญาผูกมัดกันแต่อย่างใด ทั้งนี้ยังปลอดภัยต่อาการทำผิดกฎหมายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ 

ทำไม่บริษัทบุหรี่จึงยอมจ่ายเงินจำนวนมหาศาลให้กับภาพยนตร์

- ตามธรรมชาติของมนุษย์ การกระทำที่เกิดขึ้นล้วนเป็นพฤติกรรมของการเลียนแบบ โดยเฉพาะในเด็กและวัยรุ่นนั้นจะมีผลมากและภาพยนตร์คือ ต้นแบบที่สำคัญ 

- ความรู้สึกประทับใจและความนิยมในดาราที่ชอบ จะส่งผลให้ผู้ชมสนใจติดตาม และเกิดพฤติกรรมที่จะลอกเลียนแบบไม่ว่าจะเป็นลักษณะของการพูดจา ท่าทางการแสดงออกต่างๆ การแต่งกาย ทรงผม ตลอดจนการสูบบุหรี่ที่ปรากฎในภาพยนตร์ 

- บทบาทและพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของนักแสดงในภาพยนตร์ เป็นตัวกระตุ้นทางหนึ่งที่ทำให้เด็กที่ไม่เคยสูบบุหรี่เกิดความอยากลองสูบ และในรายที่ผู้สูบบุหรี่เป็นอยู่แล้ว ก็จะนำมาซึ่งการสูบบุหรี่ต่อไป 

- นอกจากนี้ในบางแง่มุม การสูบบุหรี่ก็เป็นการแสดงออกเพื่อจะบ่งบอกถึงความเป็นผู้ใหญ่ แสดงวุฒิภาวะหรือวัยที่พร้อมจะดำเนินชีวิตไปตามทางที่ตนกำหนดเอง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดและการเลี้ยงดูลูกของคนตะวันตกที่เด็กพร้อมจะเติบโตและออกจากครอบครัวไปมีชีวิตเป็นของตนเอง การสูบบุหรี่เป็นเพียงบทบาทขั้นต้นของการแสดงความเป็นผู้ใหญ่

- จากพื้นฐานของมนุษย์ที่ยึดตึด และเชื่อมั่นในเรื่องของกาลเวลา ยุคสมัย กลุ่มผู้ชมจะมองว่า การสูบบุหรี่ที่ปรากฎในภาพยนตร์เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นจริงในช่วงนั้น ในสถานการณ์นั้นๆ เป็นความร่วมสมัยเป็นการแสดงความยอมรับของสังคมทำให้เห็นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วไปในสังคมที่มีการสูบบุหรี่อย่างกว้างขวางและเปิดเผย

 

ข้อมูลจากหนังสือ "ร้อยเล่ห์ เพทุบายบริษัทบุหรี่" มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ 

วันที่ 14 พฤษภาคม 2561