"บุหรี่ตัวร้าย ทำลายหัวใจ"

คอลัมน์ : จับกระแส 

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เชิญชวนภาคีร่วมการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างกระแสการรณรงค์เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ตามที่องค์การอนามัยโลก ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่นๆ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ ร่วมกับภาคีเครือข่ายนักรณรงค์ สื่อมวลชนส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา

 

โดยได้เชิญสื่อมวลชนทั้งในส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น ที่เป็นเครือข่ายขับคลือนในชุมชน ทั้งระดับนโยบายและสร้างกระแสในท้องถิ่น มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคหัวใจ มานำเสนอข้อมูลสำคัญถึงผลกระทบของบุหรี่กับการเกิดโรคหัวใจที่แท้จริง การเล่าประสบการณ์ตรงจากผู้ป่วยจากโรคหัวใจที่เกิดจากการสูบบุหรี่

นพ.แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า 

องค์การอนามัยโลกได้ให้ความสำคัญกับพิษภัยของยาสูบต่อสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือด การสูบบุหรี่นั้น เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดต่างๆ การสูบบุหรี่คร่าชีวิตคนทั่วโลกเกือบ 3 ล้านคน และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประชากรไทย องค์การอนามัยโลกและหน่วยงานสหประชาชาติต่างๆ นั้นให้คำมั่นที่จะสนับสนุนรัฐบาลไทย และภาคีเครือข่ายในการต่อสู้กับพิษภัยของยาสูบ เพื่อลดการเจ็บป่วย และเสียชีวิตของประกรไทยที่มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่  

ผศ.ดร.นพ.กิติพงศ์ สุนทราภา คณะแพทศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 

"หลายคนคิดว่าสูบบุหรี่ทำให้เป็นโรคเกี่ยวกับปอด น้อยคนที่จะรู้ว่าทำให้เกิดโรคหัวใจด้วยเพราะมันค่อย ๆ เป็น คล้ายกับมะเร็ง รู้ตัวอีกทีก็หัวใจขาดเลือดไปแล้ว" 

ผศ.นพ.ครรชิต ลิขิตธนสมบัติ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ 

"คนบอกว่า สูบบุหรี่แค่วันละมวน คงไม่น่ากลัว ความจริงคือ คนสูบบุหรี่ยังไงก็เสี่ยง เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด มากกว่าคนไม่สูบ" 

ผศ.ดร.ดวงกมล วัตราดุลย ​ผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิชาการพยาบาล สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย

"แม้จะขยายหลอดเลือดหัวใจ หรือผ่าตัดเปลี่ยนหลอดเลือดหัวใจไปแล้ว หลอดเลือดหัวใจก็จะตีบซ้ำ ถ้ายังสูบบุหรี่" 

นพ.ประดิษฐ์ชัย ชัยเสรี กรรมการมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ 

"นิโคติน คาร์บอนมอนนอกไซด์ ในบุหรี่ กระตุ้นให้เส้นเลือดและผนังเส้นเลือดแข็งตัว ทำให้หัวใจขาดเลือด เกิดเส้นเลือดหัวใจตีบได้ง่าย" 

รศ.นพ.สมบัติ มุ่งทวีพงษา รองเลขาธิการและงานฝ่ายกฎหมาย สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย

"ในสมองคนเรามีหลอดเลือดเยอะ เพราะสอมงต้องใช้เลือดเยอะมาก แต่บุหรี่ทำให้หลอดเลือดอุดตัน ฉะนั้น เปอร์เซ็นต์ที่เป็นโรคหลอดเลือดแล้วมีผลกระทบต่อสมองเลยสูง" 

ข้อมูลโดย : กองบรรณาธิการ Smartonline

วันที่ 30 พฤษภาคม 2561