ลด ละ เลิก...บุหรี่ไฟฟ้า อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม
คอลัมน์ : ความเคลื่อนไหว
นพ.จตุภัทร คุณสงค์ จิตแพทย์ประจำศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยายาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์สูบบุหรี่ชนิดหนึ่งซึ่งใช้กลไกไฟฟ้าทำให้เกิดความร้อนและไอน้ำที่ประกอบไปด้วยสารเคมีต่างๆ โดยไม่มีควันจากกระบวนการเผาไหม้เหมือนบุหรี่ปกติทั่วไป ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ แบตเตอรี่ ตัวทำให้เกิดไอและความร้อน (Atomizer) และน้ำยา และถ้ากล่าวถึงเฉพาะส่วนของน้ำยาที่ถูกทำให้เป็นไอและเข้าสู่ร่างกายของผู้สูบจะประกอบด้วยสารประกอบหลักๆ คือ "นิโคติน" ถือเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่งที่พบได้ในทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ปกติทั่วไป ที่ทำให้ร่างกายเสพติดการสูบบุหรี่
นพ.จตุภัทรกล่าวย้ำว่า นอกจากนี้ยังพบสารประกอบอีกมากมายในไอของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีข้อมูลว่าเป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น โลหะหนัก สารหนู สารกลุ่ม Formaldehyde และกลุ่ม Benzene เป็นต้น จากการวิจัยพบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น โรคหัวใจ และกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง บุหรี่ไฟฟ้าเสพติดหรือไม่? แน่นอนว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคตินซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดสารเสพติด
ดังนั้น การสูบบุหรี่ไฟฟ้าจึงทำให้ผู้สูบ "ติด" ได้ไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดา นอกจากนี้รูปแบบ ขั้นตอนในการสูบบุหรี่ไฟฟ้าก็มีความใกล้เคียงกับการสูบบุหรี่ธรรมดามาก ทำให้ผู้สูบยังคง "ติด" ในพฤติกรรมการสูบเหมือนบุหรี่ธรรมดา
ข้อสงสัยสำคัญที่เคยได้ยินกันมานานว่า หากอยากเลิกบุหรี่ธรรมดาแล้วหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทน จะช่วยได้หรือไม่? ทำให้ผู้สูบลดการสูบบุหรี่ธรรมดาลงจริงหรือ ผลสรุปในทางตรงกันข้ามคือ การสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยลดการสูบบุหรี่ธรรมดาลงเลย ร้ายไปกว่านั้นยังทำให้อัตราการสูบบุหรี่โดยรวม ทั้งธรรมดาและไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นไปอีก โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะการที่มีนิโคตินเหมือนกัน และเยาวชนที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่สูบบุหรี่ (ไม่ว่าจะเริ่มจากขนิดไหน) ท้ายที่สุดก็จะมีการแลกเปลี่ยนทดลองกันภายในกลุ่มจนคุ้นเคยกับบุหรี่ทุกๆ รูปแบบ ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการประกาศห้ามอย่างเป็นทางการ มิให้บริษัทบุหรี่โฆษณาว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ธรรมดาได้ เพราะขัดกับข้อมูลจากการวิจัยอย่างชัดเจน
"เป็นความจริงที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีกลไกการทำงานที่ไม่มีกระบวนการเผาไหม้เหมือนบุหรี่ธรรมดา ทำให้ผู้สูบลดความเสี่ยงที่จะได้รับสารที่เป็นอันตรายจากการเผาไหม้บางตัว เช่น น้ำมันดินหรือทาร์ (Tar) และคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งและโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ จากที่กล่าวมาข้างต้น สารประกอบอื่นๆ ที่พบในบุหรี่ไฟฟ้าก็ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ไม่แพ้กัน
นอกจากนี้ยังมีบางงานวิจัยที่ระบุว่าไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้ามีขนาดอนุภาคที่เล็กกว่าบุหรี่ธรรมดาทำให้สามารถสูดเข้าไปในปอดส่วนลึกได้มากกว่าอนุภาคที่เล็กนี้จะจับเข้าไปในเนื้อเยื่อปอดและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว และยากที่กลไกธรรมชาติของร่างกายจะขับออกได้"
ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ Smartonline
วันที่ 5 กรกฎาคม 2561