การประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ : ครั้งที่ 17
คอลัมน์ : บรรณารักษ์ห้องสมุด ศจย.
ในการประชุมวิชาการ "บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17" จัดให้มีการแถลงข่าวถึงสถานการณ์การบริโภคยาสูบในปัจจุบัน และข้อมูลความจริงที่ว่า "การสูบบุหรี่มีผลต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด" ดังที่องค์การอนามัยโลกได้ให้ความสำคัญและกำหนดประเด็นการรณรงค์ร่วมกันเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พ.ค.ที่ผ่านมา และมุ่งให้ทุกหน่วยงานให้ความรู้ในประเด็นนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการเกิดโรคหัวใจซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียถึงชีวิต
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยผลการสำรวจการบริโภคยาสูบของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ว่ามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2534 ที่มีจำนวนผู้สูบบุหรี่ 12.26 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 32 ลดลงเป็น 10.7 ล้านคน หรือร้อยละ 19.1 ในปี 2560 เป้าหมายสำคัญจึง มุ่งเน้นการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 15-24 ปี และทำให้ผู้ที่สูบบุหรี่อยู่เดิมเลิกสูบ เพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องได้ โดยเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง
ผศ.นพ.ครรชิต ลิขิตธนสมบัติ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองตีบตัน สูงถึงปีละประมาณ 1 แสนคน และ 1 ใน 5 ของผู้เสียชีวิต มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ ซึ่งบุหรี่มีสารนิโคตินและสารพิษอื่นๆ ที่ทำให้หลอดเลือดแดงตีบตันส่งผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย เกิดหัวใจวายกะทันหัน หลอดเลือดสมองตับตัน ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ การสูบบุหรี่เพียงวันละ 1-2 มวน ก็เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองได้มากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ คนที่เลิกสูบบุหรี่ได้จะลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดสมองได้ถึงร้อยละ 30-50
รศ.นพ.สมบัติ มุ่งทวีพงษา เลขาธิการสมาพันธ์เครือข่ายโรคไม่ติดต่อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "การสูบบุหรี่มีส่วนทำให้เกิดหลอดเลือดสมองโป่งพอง ถ้าเกิดการแตกจะทำให้มีการเสียชีวิตแบบปัจจุบันทันด่วนได้ มีความเสี่ยงต่อโรคหลือดเลือดสมองอุดกั้นเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า และในผู้หญิงที่สูบบุหรี่ และใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดอัตราเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองจะสูงถึง 7.2 เท่า ซึ่งการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยก่อโรคหลอดเลือดสมองที่สำคัญ นอกจากนี้งานวิจัยล่าสุดจากประเทศจีน ระบุว่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง ที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดแล้ว หากยังไม่หยุดสูบบุหรี่จะมีโอกาสเกิดหลอดเลือดสมองโป่งพองซ้ำมากกว่าผู้ป่วยที่หยุดสูบบุหรี่
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แม้สถานการณ์การสูบบุหรี่มีแนวโน้มดีขึ้น แต่จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 พบว่า ยังมีผู้ได้รับควันบุหรี่มือสองทั่วประเทศถึงร้อยละ 33.2 มีการสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ โดยพบเห็นการสูบบุหรี่ที่ตลาดสดสูงที่สุด ร้อยละ 61.8 รองลงมาคือ ร้านอาหาร ร้อยละ 37.7 สถานีขนส่ง ร้อยละ 25.5 โดย 2 ใน 5 ของผู้สุบบุหรี่ มีการสูบบุหรี่ในบ้าน ทำให้มีผู้ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านสูงถึง 17.3 ล้านคน เมื่อพ่อ แม่สูบบุหรี่ จะทำให้ลูกหลาน หรือสมาชิกในบ้านมีพฤติกรรมเลียนแบบสูบบุหรี่ตาม เป้าหมายของ สสส. จึงเน้นย้ำการทำงานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพ อาทิ โครงการพัฒนาต้นแบบบ้านปลอดบุหรี่ โครงการพัฒนาศักยภาพ อสม.ช่วยเลิกบุหรี่
ข้อมูลจากงานวิชาการบุหรี่กับสุขภาพ กองบรรณาธิการ Smartonline
วันที่ 19 กรกฎาคม 2561