ซองบุหรี่แบบเรียบ ไม่ขัดต่อกฎ WTO ตัดสินแล้ว "มีความชอบธรรม"

คอลัมน์ : จับกระแส

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561 องค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO ) ได้ประกาศผลการตัดสินข้อพิพาทระหว่างประเทศ กรณีซองบุหรี่แบบเรียบว่า กฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบ (Plain packaging) ของออสเตรเลียมีความชอบธรรม และไม่ได้ขัดต่อกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศภายใต้องค์การค้าโลก (WTO)

กฏหมายซองบุหรี่แบบเรียบ คือ 

- ห้ามพิมพ์โลโกเครื่องหมายการค้า สัญลักษณ์ ลวดลาย และคำที่สื่อความหมายถึงการส่งเสริมการขายบนซองยาสูบ 

- ชื่อยี่ห้อบุหรี่ ต้องพิมพ์ด้วยตัวอักษร ขนาด และวางบนตำแหน่งของซองตามที่กฎหมายกำหนดบนพื้นที่ซองสีน้ำตาลเข้ม 

- ซองบุหรี่ต้องมีขนาดและมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด 

ออสเตรเลียเป็นประเทศแรกที่ออกกฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบ โดยรัฐสภาออสเตรเลีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 และมีผลบังคับใช้ 1 ธันวาคม 2555 โดยมีวัตถุประสงค์ของกฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบ คือ 

1. ป้องกันการเริ่มสูบบุหรี่ของเยาวชน

2. ทำให้คนสูบบุหรี่อยากเลิก และไม่กลับมาสูบอีก

3. ลดความเย้ายวนของซองบุหรี่

มาตรการซองบุหรี่แบบเรียบ เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการควบคุมยาสูบ นอกเหนือการขึ้นภาษี การเพิ่มการสนับสนุนการตลาดเพื่อสังคม ควบคุมการโฆษณาทางอินเตอร์เนต 

บริษัทบุหรี่ฟ้อง 2 ศาลคือ ศาลสูงในออสเตรเลีย และอนุญาโตตุลาการ (ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี ฮ่องกง-ออสเตรเลีย) บริษัทบุหรี่ฟิลลิป มอร์ริสเอเซีย ทั้ง 2 คดี บริษัทบุหรี่เป็นฝ่ายแพ้คดี 

สรุปคำฟ้องร้องที่ฟ้อง คือ ให้ระงับข้อพิพาทของ WTO ว่ามาตรการซองบุหรี่แบบเรียบของออสเตรเลียมีเนื้อหาขัดกับพันธกรณีภายใต้

1. มาตรการซองบุหรี่แบบเรียบไม่ให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าส่งผลกระทบต่อการใช้เครื่องหมายการค้า 

2. มาตรการซองบุหรี่แบบเรียบ ก่อให้เกิดอุปสรรคทางการค้าเกินจำเป็น และการเลือกปฏิบัติซึ่งขัดกับความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT)

คำต้ดสินของคณะผู้พิจารณา 

มาตรการซองบุหรี่แบบเรียบของออสเตรเลียไม่กระทบต่อสิทธิในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้ทรงสิทธิและไม่ลดทอนสิทธิของผู้ทรงสิทธิในการป้องกันไม่ให้ผู้อื่น นำเครื่องหมายการค้าไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาติ (ไม่ขัดต่อความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า TRIPS) 

รวมทั้งมีความเห็นว่าซองบุหรี่แบบเรียบมีวัตถุประสงค์ชัดเจนเพื่อปกป้องสุขอนามัยของประชาชนโดยลดการบริโภคยาสูบ แม้จะเป็นมาตรการที่มีลักษณะจำกัดการค้า แต่ประเทศผู้ฟ้องก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า มีมาตรการทางเลือกอื่นที่มีล้กษณะจำกัดการค้าน้อยกว่า (ประเทศที่ฟ้องคือ ฮอนดูรัส สาธารณรัฐโดมินิกัน อินโดนีเซีย) ซึ่งสามารถให้ผลลัพธ์เท่าเทียมในการช่วยลดการบริโภคยาสูบตามวัตถุประสงค์ของออสเตรเลีย (ไม่ข้ดต่อข้อตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT Agreement)

คดีความที่มีการฟ้องร้องศาลภายในประเทศ

บริษัทบุหรี่ได้ฟ้องศาลเพื่อขอให้ตัดสินว่า ซองบุหรี่แบบเรียบไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวม 8 คดี โดยประเทศที่ถูกฟ้องมีออสเตรเลีย ฝรั่งเศล อังกฤษ นอร์เวย์ และสหภาพยุโรป ถูกฟ้องที่ออกกฎหมายสนับสนุนให้ 28 สมาชิกประเทศสหภาพยุโรป ออกกฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบ ทั้ง 8 คดีศาลยกฟ้อง 

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้จัดแถลงข่าว "เจาะลึกคำตัดสิน WTO กรณีกฎหมายซองบุหรี่ แบบเรียบมีความชอบธรรม" ที่โรงแรมรอยัล ปริ้นเซส หลานหลวง เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 โดยมี Mr.Jonathan Liberman ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก และ The McCabe Centre for Law and Cancer รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท รองคณบดี ฝ่ายวิจัยและบริการสังคม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและประโยชน์ที่จะได้จากกฏหมายซองบุหรี่แบบเรียบ ซึ่งประเทศไทยก็มีกฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบแล้ว แต่ยังรอออกอนุบัญญัติ .... 

ข้อมูลโดย : ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ 

วันที่ 2 สิงหาคม 2561