พ่อจ๋า บุหรี่ทำร้ายครอบครัวเรา...
คอลัมน์ : จับกระแส
12 สิงหาคม ของทุกปีถือเป็นวันแม่แห่งชาติ ซึ่งหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้จัดกิจกรรมที่สะท้อนถึงสถานการณ์ปัญหาและข้อเสนอทางออกต่อรัฐบาลในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้หญิง และครอบครัว
มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เครือข่ายผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากบุหรี่ 4 ภาคและเครือข่ายเด็กและเยาวชน เครือข่ายโรงเรียนปลอดบุหรี่ ได้ตระหนักถึงสถานการณ์ความรุนแรงต่อสตรี เยาวชน เด็กและครอบครัว ที่ต้องเผชิญกับการสูบบุหรี่หรือยาสูบ ทั้งในรูปแบบของการเป็นผู้สูบ (นักสูบมือ 1) ผู้ไม่ได้สูบโดยตรง แต่สูด หรือสัมผัสกับควันบุหรี่ เข้าไปในร่างกาย ซึ่งเราเรียกผู้ได้รับผลกระทบเหล่านี้ว่าเป็นนักสูบมือสองและมือสาม)
ล่าสุดการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2560 พบว่า มีคนไทย 17.3 ล้านคนที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน และภาคใต้มีปัญหารุนแรงที่สุด โดยมีอัตราการได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านทุกวันสูงสุดของประเทศ คือ 37.3% ขณะที่อัตราเฉลี่ยของประเทศไทยเท่ากับ 28.1% กรุงเทพต่ำสุด 22.6% ภาคกลาง 23.6% ภาคเหนือ 28.7% และภาคอีสาน 30.9%
ผศ.ดร.พญ.รัศมี สังข์ทอง หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เปิดเผยรายงานการวิจัยจากคณะแพทย์มหาวิทยาลัย UC San Francisco ที่วิเคราะห์ข้อมูลระดับประเทศเปรียบเทียบพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในประชากรชาวอเมริกัน ระหว่าง ค.ศ.2002-2003 และ ค.ศ.2010-2011 พบว่าปัจจัยสำคัญต่อการเลิกบุหรี่ได้แก่ การมีบ้านปลอดบุหรี่ มีเศรษฐานะดี และสูบบุหรี่ในระดับน้อย ระหว่าง ปี ค.ศ.2010-2011 พบว่า มีอัตราบ้านปลอดบุหรี่เพ่ิมขึ้นร้อยละ 62 โดยผู้มีรายได้น้อยมีสัดส่วนบ้านปลอดบุหรี่น้อยกว่าผู้มีรายได้สูงร้อยละ 33 อย่างไรก็ตามพบว่า การมีบ้านปลอดบุหรี่เพิ่มโอกาสเลิกบุหรี่ได้ 1.6 เท่า ไม่ว่าจะเป็นผู้มีรายได้น้อยหรือสูงก็ตาม ทำให้ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐานะต่อการเลิกบุหรี่ได้
ดังนั้น จึงควรมีการส่งเสริมให้มีบ้านปลอดบุหรี่มากขึ้น และควรกำหนดให้อาคารชุดสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่สงเคราะห์โดยรัฐเป็นอาคารปลอดบุหรี่
ข้อมูลโดย : วัลภา แก้วศรี กองบรรณาธิการ Smartonline
วันที่ 16 สิงหาคม 2561