สูบบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ได้ลดความเสี่ยงการเกิดหัวใจวาย

คอลัมน์ เก็บมาฝาก

ผศ.นพ.ครรชิต ลิขิตธนสมบัติ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เปิดเผยงานวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัย UCSF ประเทศสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ในวารสาร The American Journal of Preventive Medicine

จากกลุ่มตัวอย่าง 69,452 คน การสำรวจระดับประเทศในสหรัฐอเมริกา (The National Health Interview Survey) ปี 2014 และ 2016 มาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการใช้บุหรี่ไฟฟ้า และบุหรี่ธรรมดาต่อการเกิดโรคหัวใจวายเฉียบพลัน

ผลการศึกษา พบว่า ผู้ที่สูบทั้งบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้าความเสี่ยงหัวใจวายจะสูงเพิ่มเป็น 5 เท่า และความเสี่ยงเหล่านี้จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นในกรณีคนที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และภาวะไขมันในเลือดสูง ขณะที่ผู้สูบบุหรี่ที่หันไปสูบหรี่ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวายฉับพลันจากกล้ามเนื้อหัวใจตายสูงขึ้น 2 เท่าเทียบกับคนไม่สูบบุหรี่ ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายที่ใกล้เคียงกับผู้ที่สูบบุหรี่ธรรมดา 

นอกจากนี้ยังพบว่า ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจจะลดลงเมื่อเลิกสูบบุหรี่ธรรมดา

ศ.ดร.Stanton Glantz ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมยาสูบและผู้อำนวยการสถาบัน UCSF Centre for Tobacco Control Research and Education หนึ่งในทีมวิจัย ได้กล่าวว่า 

มีหลายคนเข้าใจว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ลดลง แต่งานวิจัยฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้าไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันในผู้ที่สูบบุหรี่ธรรมดา และแม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะมีปริมาณสารก่อมะเร็งต่ำกว่าบุหรี่ธรรมดา แต่ไอบุหรี่ไฟฟ้ามีส่วนประกอบของอนุภาคขนาดเล็กและสารพิษอื่นๆ ที่ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและปอด โดยทางเดียวที่จะลดความเสี่ยงเหล่านี้ได้คือ "เลิกสูบบุหรี่" 

ข้อมูลอ้างอิง : Talal Alzahrani,Ivan Pena,Nardos Temesgen,Ttanton A.Glantz. Association Between Electronic Cigarette use and Myocardial infarction, Am J Prev Med 2018; Published online ahead of print 22-AUG-2018 DOI information : 10.1016/j-amepre 2018.05.004

ข้อมูลโดย กองบรรณาธิการ Smartonline 

วันที่ 5 กันยายน 2561