"ปกป้องหัวใจ Gen Z : Strong ไม่สูบบุหรี่"

คอลัมน์จับกระแส

ดร.ศรัณญา เบญจกุล จากภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยข้อมูลการบริโภคยาสูบของเยาวชนไทยในภาพรวมสถานการณ์แต่ละปีมีอัตราเฉลี่ยที่ใกล้เคียงกัน เฉพาะกลุ่มเพศชายมีสัดส่วนลดน้อยลง แต่กลุ่มเพศหญิงกลับมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นในปี 2552 มีสัดส่วนร้อยละ 3.8 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.2 ในปี 2558

 ข้อมูลการบริโภคยาสูบของเยาวชนอายุ 13-16 ปี โดยเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนระบุว่า ไทย อยู่ในอันดับที่ 4  

โครงการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ช่วง 10 ปีล่าสุด ตั้งแต่ปี 2550-2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 15-19 ปี อัตราการบริโภคยาสูบไม่เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน แต่ประเด็นสำคัญคือ ปี 2554 จำนวนการสูบบุหรี่ของเยาวชนมีสัดส่วนเพ่ิมมากขึ้นเป็น 558,000 คน ร้อยละ 10.8 และยังพบว่า จำนวนการสูบบุหรี่ในภาพรวมทั้งประเทศก็มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นด้วย 

ปัจจัยที่เป็นตัวชี้วัดสถานการณ์การบริโภคยาสูบของกลุ่มเด็กและเยาวชนไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นและเป็นกำลังใจในการทำงานด้านการควบคุมยาสูบว่า "เร่ิมเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว" ข้อมูลที่เป็นปัจจัยชี้วัดมีดังนี้คือ 

1) แม้ว่าภาพรวมการบริโภคยาสูบของกลุ่มเยาวชนไม่ลดลงอย่างชัดเจน เนื่องจากกลุ่มประชากรวัยเด็กและเยาวชนมีอัตราการเกิดลดน้อยลง ทำให้อัตราเฉลี่ยการลดลงของกลุ่มสูบบุหรี่ที่ลดลง เห็นการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก

2) นักสูบหน้าใหม่ทั่วประเทศมีอายุเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น จากอายุเฉลี่ย 18.03 ปี ในปี 2557 เป็นอายุเฉลี่ย 18.14 ปี ในปี 2560 โดยเฉพาะข้อมูลของกลุ่มอายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 12 ปี มีสัดส่วนลดลงจากปี 2557 ร้อยละ 4.3 เหลือร้อยละ 2.7 ในปี 2560 

สำหรับสถานการณ์ประเภทผลิตภัณฑ์ยาสูบที่กลุ่มเยาวชนอายุ 15-19 ปี บริโภคกันมากที่สุดคือ บุหรี่โรงงานร้อยละ 6.6  จากการสำรวจข้อมูลแหล่งซื้อและรูปแบบการซื้อบุหรี่ซองหรือบุหรี่โรงงาน ของกลุ่มเยาวชนอายุ 15-19 ปี พบรายละเอียดดังนี้ 

- แหล่งที่กลุ่มเยาวชนมีการซื้อบุหรี่มากที่สุดคือ ร้านขายของชำหรือร้านโชห่วย รองลงมาคือ ร้านสะดวกซื้อ 

- ผู้ชายมีการขอดูบัตรประชาชนในกลุ่มอายุ 15-24 ปี เพียงร้อยละ 2.8 และกลุ่มอายุ 15-19 ปี มีสัดส่วนร้อยละ 1.8 เท่านั้น ดังนั้น การดำเนินการเพื่อควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกับกลุ่มร้านค้า จึงต้องเน้นให้ผู้ขายมีการตรวจบัตรประชาชนของผู้ซื้อในกรณีที่สงสัยด้วย 

- รูปแบบการซื้อแบบมวนหรือแบ่งขายมีสัดส่วน ร้อยละ 44.1 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2554 ที่มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 70-80 อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวเป็นการศึกษาวิจัยในช่วงเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2560 ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวการประกาศบังคับใช้กฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ดังนั้นควรมีการศึกาษาวิจัยต่อเนื่องเพื่อเปรียบเทียบหลังการประกาศใช้กฎหมาย

 

ประเด็นสำคัญอีกประการคือ การรับรู้ถึงโทษและพิษภัยจากการสูบบุหรี่ของเยาวชนอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ซึ่งเป็นความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอต่อการสร้างความตระหนักและยับยั้งพฤติกรรมการสูบบุหรี่ได้หรือไม่ ดังนั้น ควรมีการจัดกิจกรรมเสริมทักษะ หรือการแสดงกรณีตัวอย่างให้แก่เยาวชนเพ่ิมมากขึ้น 

ข้อมูลจากการประชุมบุหรี่กับสุขภาพ ครั้งที่ 17

โดยหริสร์ ทวีพัฒนา นักวิชาการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อควบคุมยาสูบ 

วันที่ 8 ตุลาคม 2561