My Heart, Your Heart : ใจเขา ใจเรา #วันหัวใจโลก 2561

คอลัมน์ : ทันโลก

องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่าในปี พ.ศ.2558 กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดประมาณ 17.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 31ของอัตราการตายทั่วโลก

โรคหลอดเลือดหัวใจยังคงมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เพราะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ปัจจุบันและรูปแบบการบริการด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กรมการแทพย์ปี 2557 พบประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเฉลี่ยของผู้ป่วยโรคหัวใจถึง 6,906 ล้านบาทต่อปี และยังเป็นสาเหตุการสูญเสียปีสุขภาวะอันดับต้นๆ ของประชากรไทยวัยทำงาน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชากร เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ส่งผล กระทบทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ 

กระทรวงสาธารณสุข และมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กำหนดวันรณรงค์วันหัวใจโลก ให้สอดคล้องกับสากลเป็นวันที่ 29 กันยายน ของทุกปี ซึ่งในปีนี้ชี้ประเด็นรณรงค์คือ ใจเขา ใจเรา ซึ่งใช้เป็นโอกาสอันดีในการที่ทำสัญญากับตัวเอง สัญญากับตัวเอง สัญญาที่จะทำอาหารและรับประทานอาหาร ที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น จะออกกำลังกายให้มากขึ้น และส่งเสริมหรือชักชวนให้เด็กๆ หันมาออกกำลังกายมากขึ้น สัญญาที่จะเลิกบุหรี่และช่วยคนที่เรารักหยุดสูบบุหรี่ โดยการทำสัญญา ( ใจ ) ด้วยหัวใจ และปฏิบัติดังนี้ 

  • ลดการบริโภคเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาล และน้ำผลไม้ที่มีรสหวาน ควรเลือกบริโภคน้ำเปล่าหรือน้ำผลไม้ที่มีรสไม่หวาน 
  • เปลี่ยนจากการกินขนมหวานมากินผลไม้สดแทน เพื่อทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ
  • พยายามกินผักผลไม้ 5 ส่วนต่อวัน (สด แช่แข็ง อบแห้ง หรือกระป๋องก็ได้) 
  • งดดื่มแอลกอฮอล์หรือควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม 
  • พยายามงดเว้นอาหารแปรรูป และผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ซึ่งล้วนมีเกลือ น้ำตาล และไขมันสูง 
  • ควรจัดเตรียมอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับมื้อกลางวันมาจากบ้าน 

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ

  • ความดันโลหิตสูงเป็นตัวปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งของโรคหัวใจและหลอดเลือดเรียกได้ว่าเป็น "ภัยเงียบ" เพราะมักจะไม่มีสัญญาณหรืออาการเตือนล่วงหน้า ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ตระหนัก
  • การสูบบุหรี่วันละ 1 มวนจะเพิ่มอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ 1.74 เท่าในผู้ชาย และ 2.19 เท่าในผู้หญิงเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ รวมถึงคนที่สูดควันบุหรี่ก็มีอัตราเสี่ยงเพิ่มขึ้น ยิ่งสูบในปริมาณที่มากขึ้นความเสี่ยงก็จะเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน 
  • หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงโรคเบาหวาน จากข้อมูลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นโรคเบาหวาน ดังนั้นหากไม่ตระหนักและไม่รับการรักษาจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และโรคอัมพาต
  • พบว่า รอบตัวเรามีคนจำนวน 4 ล้านคนต่อปีที่เสียชีวิตเพราะไขมันในเลือดสูง (Cholesterol) ควรหมั่นตรวจเช็คไปพร้อมกับส่วนสูง น้ำหนัก รอบเอว ดัชนีมวลกาย ไขมัน และน้ำตาลในเลือด โดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ ที่สามารถให้คำแนะนำและคำปรึกษาว่าระดับไหนคือความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ การเป็นอัมพาต และดูแลรักษาร่างกายที่เหมาะสมเพื่อสุขภาพหัวใจที่ดี

ซึ่งจากข้อมูลผลการสำรวจสุขภาพของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป พบความชุกของปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดส่วนใหญ่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ความชุกของการสูบบุหรี่และความชุกของการมีภาวะไขมันในเลือดสูงจะมีแนวโน้มลดลง แต่กลับพบว่า การสูบบุหรี่มีอัตราที่เพิ่มขึ้นในอายุ กลุ่ม 15-24 ปี

ข้อมูลจาก สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค

วันที่ 29 กันยายน 2561