บุหรี่ครองแชมป์มัจจุราชคร่าชีวิตคนไทย
ทันตแพทย์หญิงกนิษฐา บุญธรรมเจริญ หัวหน้าคณะทำงานแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาดัชนีประเมินภาระโรคและสุขภาพประชากรไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข
ศึกษาติดตามจำนวนคนไทยที่เสียชีวิตจากหลายโรค ที่มีสาเหตุจากการสูบบุหรี่ ในปี 2557 เปิดเผยผลวิจัยฉบับสมบูรณ์ว่า คนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ 54,512 ราย เป็นชาย 47,770 ราย หญิง 6,742 ราย “เมื่อคำนวณจำนวนปีที่เสียชีวิตก่อนวัยและเวลาอันควร พบว่า คนสูบบุหรี่โดยเฉลี่ยตายก่อนวัย คนละ 17.8 ปี และก่อนตายแต่ละคนต้องเจ็บป่วย ทุกข์ทรมาน เป็นโรคเรื้อรังจนสูญเสียคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ละคนเฉลี่ยหายไปถึง 3 ปี”
พบว่า โรคจากบุหรี่ที่ส่งผลเจ็บป่วยตามลำดับกลุ่มโรคมะเร็ง มะเร็งปอด 13,047 ราย มะเร็งในอวัยวะ อื่น ๆ 7,815 ราย ถุงลมโป่งพอง 11,295 ราย โรคปอดเรื้อรังอื่น 2,669 ราย โรคหัวใจ 7,215 ราย โรคหลอดเลือดสมอง 6,796 ราย และโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ 5,674 ราย
ทั้งนี้การเสียชีวิตของชายไทย 47,770 คน จากการสูบบุหรี่คิดเป็นร้อยละ 17 หรือ 1 ใน 6 ของจำนวนชายไทยที่เสียชีวิตจากทุกสาเหตุ 273,722 คน ในปีเดียวกัน ขณะที่การเสียชีวิตของเพศหญิงจากการสูบบุหรี่ 6,742 คนคิดเป็นร้อยละ 3 ของหญิงไทยที่เสียชีวิตจากทุกสาเหตุ 212,327 คน ภายในปีเดียวกัน
ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช รองผู้จัดการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ กล่าวว่า แต่ละปีอัตราคนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ยังคงเพิ่มขึ้น แม้จำนวนผู้สูบลดลงอย่างช้า ๆ นับแต่ปี 2547 คนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ 41,183 คน และปี 2552 ตายเพิ่มขึ้นเป็น 48,242 คน เนื่องจากคนที่สูบบุหรี่มีอายุเพิ่มขึ้น และส่วนใหญ่ไม่เลิกสูบ จำนวนเกือบครึ่งเลือกสูบยาเส้นมวนเอง ซึ่งมีราคาถูกมาก อีกทั้งรัฐควบคุมบุหรี่หนีภาษียังขาดประสิทธิภาพ ทำให้มีบุหรี่ราคาถูกทะลักเข้ามามาก
เพื่อให้รัฐบาลเก็บภาษีได้มากขึ้น และทำให้คนไทยสูบบุหรี่น้อยลง ช่วยลดภาระค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยจากการสูบบุหรี่ รัฐบาลจึงควรเร่งยกเครื่องกลไกการควบคุมบุหรี่หนีภาษีที่ผิดกฎหมาย ด้วยการลงสัตยาบันในพิธีสารขจัดยาสูบที่ผิดกฎหมายขององค์การอนามัยโลก
ข้อมูลโดย : สุขสันต์ เสลานนท์ กองบรรณาธิการ Smartonline
วันที่ 19 ตุลาคม 2561