อปท. ร่วมใจ สร้างสังคมไทยปลอดบุหรี่
คอลัมน์ผู้นำมาเล่า
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และมูลนิธิเพื่อสังคมอาเซียนปลอดบุหรี่ (SEATCA) จัดเวทีระดมความคิดองค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนงานในชุมชน การปกป้องคนรุ่นใหม่ไม่ให้สูบบุหรี่ ปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ มี อปท.จาก 12 จังหวัด รวมทั้งหมด 84 คน เป็นเทศบาลนคร 4 แห่ง เทศบาลเมือง 16 แห่ง เทศบาลตำบล 21 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล 8 แห่ง เป็นการขยายการทำงานขับเคลื่อนนโยบายการควบคุมยาสูบในระดับท้องถิ่นในภาคใต้
สถานการณ์การสูบบุหรี่ในประเทศไทย ปี 2544 - 2560 ยังคงที่ ภาคที่มีการสูบบุหรี่มากที่สุดคือ ภาคใต้ จังหวัดที่มีอัตราการสูบบุหรี่สูงสุด คือ อันดับ 1 กระบี่ สูบถึง ร้อยละ 50 อันดับ 2 นครศรีธรรมราช และอันดับ 3 สตูล ส่วนจังหวัดภูเก็ตมีการสูบบุหรี่ต่ำสุด ร้อยละ 36 อายุเฉลี่ยเริ่มสูบคือ 18 ปี มีนักสูบหน้าใหม่ 2 แสนกว่าคน ส่วนใหญ่สูบบุหรี่มวนเอง
การขึ้นภาษี หรือการออกก ฏหมาย จึงไม่มีผลกระทบ เพราะส่วนใหญ่สูบบุหรี่มวนเองถึง 12.4% (9.06 แสนคน) คนใต้ต้องช่วยกันทำงานจะเกิดความเข้าใจวิถีชีวิตของคนใต้ด้วยกัน จะทำให้อัตราการสูบบุหรี่ในภาคใต้ลดจำนวนลง
โดยวิทยากรให้ข้อมูล ดร.ศรัณญา เบญจกุล ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์การสูบบุหรี่ในภาคใต้ ทำไมต้องควบคุมการบริโภคยาสูบ โดย ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 จากคุณจิระวัฒน์ อยู่สะบาย หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและบังคับใช้กฏหมาย สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กระทรวงสาธารณสุข และยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์บทเรียนจากการทำงานของรุ่นพี่ อปท. จากนายกเทศบาลตำบลปริก นายกอเล็ม ดาอี และ พจอ.ไชยา สุทธิโภชน์ ผอ.การกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลสิเกา นายยะห์ยา บานีฮัลมามูร์ดี อำเภอรามัน จ.ยะลา นายสุรศักดิ์ นุ้ยเส้ง นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ รพ.สต.บ้านเกาะนกเภา ภก.สมชาย ละอองพันธ์ เจ้าหน้าที่ สปสช.เขต 12 สงขลา มาแนะนำการใช้งบประมาณของท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมกิจกรรมด้านสุขภาพ
บทบาทเชิงรุกขององค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อคนรุ่นใหม่ไม่สูบบุหรี่ ผู้ซึ่งดูแล ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในชุมชน การจัดกระบวนการต้องลำดับความสำคัญ คือ
- ตั้งเป้าหมายด้วยการ ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง การมีส่วนร่วมในชุมชน ให้ลด ละ เลิกบุหรี่
- ปกป้องเด็กและเยาวชนให้ห่างไกลจากการบริโภคผลิตภัณท์ยาสูบ
- ลดควันบุหรี่ในชุมชน ด้วยการทำบ้านให้ปลอดบุหรี่
- ประชาสัมพันธ์กฏหมายใหม่กับร้านค้าและคนในชุมชนให้ทราบ ถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยตรงเพื่อให้เกิดการบังคับใช้ได้จริง เช่น ห้ามขายบุหรี่กับเด็กและเยาวชนอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี ห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีขายบุหรี่ และห้ามแบ่งซองบุหรี่ขาย
- สร้างสื่อประชาสัมพันธ์การรณรงค์ ผ่านทุกช่องทางสื่อโซเชียลมีเดีย
- ตั้งคณะทำงานและแทรกเรื่องบุหรี่ให้เป็นภาระงานด้วยการบูรณาการในวาระและโอกาสต่างๆ
- ผู้นำชุมชนต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนในชุมชนด้วยการ ลด ละ เลิกบุหรี่
อปท.คือผู้ที่ใกล้ชิดชุมชน หากเกิดความร่วมมือของทุกๆ ภาคส่วนช่วยกันขับเคลื่อนงานในชุมชน เพื่อสร้างชุมชนให้ปลอดบุหรี่แบบยั่งยืนต่อไป และคาดหวังว่าจะได้มาแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนงานเพื่อสังคมปลอดบุหรี่ต่อไป
ข้อมูลโดย สุขสันต์ เสลานนท์ กองบรรณาธิการ Smartonline
วันที่ 31 ตุลาคม 2561