พิษณุโลกขับเคลื่อนงานลงสู่ชุมชน ใน 3 อำเภอ สร้าง อสม. ช่วยคนให้เลิกบุหรี่

คอลัมน์ อสม. เพื่อบ้านปลอดบุหรี่ 

นายไพบูลย์ ณะบุตรจอม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวในพิธีมอบโล่ให้กับ อสม. ว่า  ทุกฝ่ายในจังหวัดพิษณุโลกต้องให้ความสำคัญกับงานควบคุมยาสูบ โดยคณะกรรมการควบคุมยาสูบระดับจังหวัด จะต้องเร่งรัดดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์เพื่อการควบคุมยาสูบทั้ง 4 แผนอันได้แก่ การเพิ่มสมรรถนะการควบคุมยาสูบ การป้องกันนักสูบหน้าใหม่ การคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ และการรักษาผู้เสพติดบุหรี่ให้เลิกสูบ

 

การดำเนินโครงการด้วยการสนับสนุนของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ภายใต้โครงการพัฒนาและสนับสนุนให้ อสม. มีสมรรถนะในการช่วยคนให้เลิกสูบบุหรี่ เป็นงานสำคัญที่จะช่วยพัฒนาและขยายเครือข่ายในระดับชุมชนเพื่อช่วยกันดูแลสุขภาพประชาชน จากพิษภัยของควันยาสูบและป้องกันเด็กจากการเริ่มเสพยาสูบ เป็นงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือของหลายฝ่าย และต้องมีความต่อเนื่อง สอดแทรกในงานประจำ ทั้งบุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาล บุคลากรสังกัดสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และผู้นำในชุมชน ต่างมีบทบาทสำคัญในการร่วมมือกันทำงานนี้ ร่วมมือกันทำให้สังคมไทยปลอดภัยจากพิษภัยของบุหรี่และยาสูบทุกประเภท ทั้งนี้เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดมากถึง 599 ล้านบาท

ผศ. กรองจิต วาทีสาธกกิจ ที่ปรึกษามูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และผู้จัดการโครงการพัฒนาและสนับสนุนให้ อสม. มีสมรรถนะในการช่วยคนให้เลิกสูบบุหรี่  ได้ดำเนินโครงการร่วมกับอำเภอวัดโบสถ์ อำเภอเนินมะปราง และอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก โดยมีหน่วยงานเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ศูนย์สุขภาพชุมชน (ศสช.)จำนวน 3 แห่ง รพ.สต. จำนวน 23 แห่ง และสถานีอนามัย 1 แห่ง จำนวนหมู่บ้าน 200 หมู่บ้าน จำนวนหลังคาเรือน 32,381 หลังคาเรือน ประชากร 137,855 คน ทั้งนี้มี อสม. อยู่ในโครงการทั้งหมด 832 คน ผลการติดตามการเลิกบุหรี่ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ของทั้ง 3 อำเภอ ในจังหวัดพิษณุโลก มีคนสูบบุหรี่ในโครงการจำนวน 1,914 คน และจากการติดตามของ อสม. จำนวน 296 คน พบว่า มีคนสูบบุหรี่เลิกได้เกิน 6 เดือน จำนวน 182 คน คิดเป็นร้อยละ 9.5 ลดจำนวนมวนลง 609 คน คิดเป็นร้อยละ 31.8 และต้องการเลิกแต่ยังเลิกไม่ได้ จำนวน 1,123 คน คิดเป็นร้อยละ 58.7

จากการดำเนินงานที่ผ่านมา อสม.มีสมรรถนะในการช่วยคนให้เลิกสูบบุหรี่ มีองค์ความรู้เรื่องพิษภัยของบุหรี่ ทักษะในการพูดชวนติดตามช่วยให้เลิก และทัศนคติในเชิงบวกต่อผู้ที่สูบบุหรี่ โดยผ่านหลักสูตรการอบรมพัฒนาศักยภาพ ครู ก.พยาบาลและบุคลากรสาธารณสุข จำนวน 85 คน และ อสม.เชี่ยวชาญเพื่อบำบัดโรคติดยาสูบ จำนวน 227 คน สามารถเป็นวิทยากรด้านการช่วยเลิกบุหรี่ในพื้นที่ได้จริง  เกิดหมู่บ้านต้นแบบที่สามารถเป็นพื้นที่เรียนรู้ได้ จำนวน 34 แห่ง 

ในโอกาสนี้ จึงได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และมอบโล่ เชิดชูเกียรติยุคคบที่สนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ฯ จำนวน 40 คน อสม.ที่มีผลงานโดดเด่นจำนวน 81 คน และโล่เกียรติบัตรเชิดชูเกียรติ ให้กับ บุคคลเลิกบุหรี่ได้ จำนวน 122 คน ทั้งนี้ เป็นผู้มีบทบาทหน้าที่สำคัญอย่างยิ่ง เป็นผู้นำในการดำเนินงานพัฒนาสุขภาพอนามัย และคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชน พร้อมที่จะช่วยกันสนับสนุนและพัฒนาเกิดเป็นชุมชนต้นแบบ ที่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการช่วยคนให้เลิกสูบบุหรี่ และบ้านปลอดบุหรี่ได้อย่างเข้มแข็ง การมีสุขภาพดีของประชาชนที่จะช่วยกันพัฒนาประเทศชาติของเราต่อไป

ข้อมูลโดย สุขสันต์ เสลานนท์ กองบรรณาธิการ Smartonline 

วันที่ 12 ธันวาคม 2561