คผยจ. 7 จังหวัดนำร่อง ขับเคลื่อนงานเพื่อจังหวัดปลอดบุหรี่
คอลัมน์ จับกระแส
หลังจากที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัด ในหลายๆ จังหวัดได้มีการแต่งตั้งและมีการประชุมคณะกรรมการทั้งระดับจังหวัดและอำเภอเพื่อขับเคลื่อนงาน และเพื่อเป็นการพัฒนาสมรรถนะในการดำเนินงานตามเป้าหมายนโยบายควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยการสนับสนุนจาก สสส. จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาสมรรถนะคณะกรรมการควบคุมยาสูบในจังหวัดซึ่งเป็น 7 จังหวัดนำร่องที่ได้จัดตั้งและมีการประชุมเรียบร้อยแล้ว คือ จังหวัดศรีสะเกษ แม่ฮ่องสอน นนทบุรี ปทุมธานี เชียงใหม่ ร้อยเอ็ด และจังหวัดนครปฐม
องค์ความรู้และทักษะของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คือ
- การมีองค์ความรู้สถานการณ์การสูบบุหรี่ในระดับประเทศและจังหวัด
- มียุทธศาสตร์ชาติเพื่อการควบคุมยาสูบ
- วางแผนควบคุมยาสูบของจังหวัด การป้องกันนักสูบหน้าใหม่ จัดสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ มีการบังคับใช้กฎหมาย และการช่วยเลิก เพื่อชุมชนปลอดบุหรี่ โรงเรียนปลอดบุหรี่ สถานที่ทำงานปลอดบุหรี่
ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานใน 7 จังหวัดนำร่อง ดังนี้
ศรีสะเกษ : ได้ดำเนินงานควบคู่ไปพร้อมๆ กันระหว่างเหล้าและบุหรี่ มีการเชื่อมเครือข่ายขับเคลื่อนงานโดยเฉพาะสภาเด็กและเยาวชนของจังหวัด ที่มีความเข้มแข็งมาก จัดกิจกรรม Gen Z Gen Strong เลือกไม่สูบบุหรี่
แม่ฮ่องสอน : เน้นการขับเคลื่อนหลายด้่าน มียุทธศาสตร์ที่ช้ดเจนในเรื่องของลดนักสูบหน้าใหม่ ลดนักสูบเก่า และลดควันบุหรี่มือสอง คือการทำบ้านปลอดบุหรี่
นนทบุรี : สร้างความเข้มแข็งและการรับรู้ข้อมูลสถานการณ์การสูบบุหรี่ในประเทศแก่เจ้าหน้าที่ เน้นการให้ความรู้เรื่องกฎหมาย และการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในโรงเรียน โดยประสานงานกับเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ สร้างโรงเรียนต้นแบบ และเชื่อมกับชุมชน ซึ่งเน้นการช่วยเลิกในโครงการ 3 ล้าน 3 ปี
ปทุมธานี : มีการประชุมคณะกรรมการในระดับอำเภอ มีการติดตามความก้าวหน้าทุกเดือน ทำงานควบคู่กับ อสม.ในโครงการ 3 ล้าน 3 ปี แทรกเรื่องบุหรี่เน้นวาระใหญ่ๆ เข้าไปกับการประชุมประจำเดือน จุดเด่นคือการเชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์
เชียงใหม่ : มีการจัดตั้งอนุกรรมการ เป็นชุดๆ เพื่อการปฏิบัติงานและติดตาม ในเรื่อง การประชาสัมพันธ์กฎหมาย และการบังคับใช้ การจัดคลินิกช่วยเลิกในผู้ที่ติดบุหรี่ ชุดป้องกันนักสูบหน้าใหม่ และมีอนุกรรมกรรมการในระดับอำเภอ
ร้อยเอ็ด : แต่งตั้งคณะกรรมการหลายชุด ประกาศศาลากลางปลอดบุหรี่อย่างเป็นทางการ ตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มในภาคเอกชน ทำงานในปั๊มน้ำมันเชื่อมกับหมออนามัยโครงการ 3 ล้าน 3 ปี
นครปฐม : ดำเนินการเน้นสถานที่ราชการปลอดบุหรี่ วัดทุกวัดต้องปลอดบุหรี่ จุดเด่นคือ มีการทำงานร่วมกับทุกอนุกรรมการ ร่วมกับสถาบันการศึกษา ม.ราชภัฏนครปฐมเพื่อแทรกเรื่องรณรงค์เข้ากับกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ทำถนนปลอดบุหรี่ควบคู่กับรณรงค์เรื่องสวมหมวกกันน๊อคเพื่อความปลอดภัย
นี่เป็นข้อสัญญาของ 7 จังหวัดนำร่อง ที่หลังจากได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานในระยะหนึ่ง ทำให้แต่ละจังหวัดได้เติมเต็มในส่วนที่ขาดหรือที่คิดว่าทำแล้วเป็นอุปสรรค์ หรือยังขับเคลื่อนไปไม่ถูกทาง ก็พอจะเห็นช่องทางที่จะขับเคลื่อนต่อทำให้ชุมชนปลอดบุหรี่ และยกระดับพัฒนาสู่จังหวัดปลอดบุหรี่ และจะได้ติดตามผลการดำเนินงาน นำมาเล่าสู่กันฟังในระยะต่อไป
ข้อมูลโดย สุขสันต์ เสลานนท์ กองบรรณาธิการ Smartoline
วันที่ 19 ธันวาคม 2561