"หมอ" เผยควันบุหรี่่ก่อฝุ่น PM2.5 เกินคาด สูงกว่าเครื่องยนต์ดีเซล
คอลัมน์จับกระแส
แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ ชมรมลมวิเศษ โครงการอุ่นในใกล้แพทยสมาคมฯ โดยคณะกรรมการชมรม "ลมวิเศษ" จัดแถลงข่าว "ถอด N95 ร่วมแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว" เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ณ อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ซ.ศูนย์วิจัย กรุงเทพฯ
ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กล่าวว่า "ปัญหาวิกฤตฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว หรือ PM2.5 ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนไทย ทั้งด้านลบต่อเศรษฐกิจของประเทศอีกนับพันล้านบาทต่อปี แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ขอแสดงความห่วงใยในสุขภาพ พร้อมผลักดันแนวทางแก้ไขปัญหาให้สัมฤทธิ์ผล
รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และประธานกรรมการที่ปรึกษาชมรมลมวิเศษ กล่าวว่า แหล่งที่มาของฝุ่นจิ๋วอีกแหล่งหนึ่งที่สำคัญและมักถูกมองข้าม คือ "กระบวนการผลิตและบริโภคยาสูบ" มีงานวิจัยเปรียบเทียบปริมาณฝุ่นจิ๋วที่เกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่ เทียบกับควันไอเสียจากรถยนต์ดีเซล ปรากฎว่า ระดับฝุ่นจิ๋วที่เกิดขึ้นในอากาศทั่วไปจากการสูบบุหรี่มีมากกว่าจากเครื่องดีเซล ถึง 10 เท่า คือมีมากถึง 319 มคก./ลบ.ม. ในขณะที่มาตฐานของฝุ่นจิ๋วในอากาศที่องค์การอนามัยโลกยอมรับได้อยู่ที่ 10 มคก./ลบ.ม.เท่านั้น นั่นหมายความว่า การสูบบุหรี่อย่างเดียวก็ทำให้อากาศของเรามีฝุ่นจิ๋วปนเปื้อนสูงกว่ามาตรฐานที่ยอมรับกันถึง 30 เท่า
แม้แต่ในบุหรี่ไฟฟ้าเองก็เคยมีการทดสอบในต่างประเทศ โดยมีการวัดค่า PM2.5 ในโรงแรมแห่งหนึ่งที่มีการจัดงานโปรโมทบุหรี่ไฟฟ้าขึ้น โดยตรวจทั้งก่อนและหลังการจัดงาน พบว่า ในระหว่างจัดงานบริเวณดังกล่าว มีค่า PM2.5 สูงกว่าปกติถึง 800 มคก./ลบ.ม. และแม้จะผ่านไปภายหลังจัดงาน 1 วัน ค่าก็ยังลดลงไม่เท่าปกติ แสดงให้เห็ฯว่ายังคงมีตกค้างหลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อมด้วย
"เราอาจคิดว่าบุหรี่ที่มีควันนิดเดียวอาจสร้างฝุ่นไม่มาก แต่ความจริงปรากฎให้เห็นแล้วว่า บุหรี่มีส่วนเพิ่ม PM2.5 มากกว่าที่เราคิดไว้ ซึ่งในไทยเองมีนักสูบมากถึง 10.9 ล้านคน หรือสูบในทุกๆ 6 คน การจุดบุหรี่มากกว่า 10 ล้านคนในแต่ละวันจะเพิ่มปริมาณฝุ่นมากเพียงใด ดังนั้น หากจะช่วยคนไทยให้มีลมหายใจไร้ฝุ่นทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ทำได้โดยเริ่มต้นที่ตนเองด้วยการเลิกบุหรี่ทั้งแบบดั้งเดิมและบุหรี่ไฟฟ้า ท่านจะช่วยชาติลดปริมาณฝุ่นจิ๋งลงได้ไม่น้อยเลย"
ข้อมูลโดย สุขสันต์ เสลานนท์ กองบรรณาธิการ Smartonline
วันที่ 31 มกราคม 2562