18 อรหันต์

คอลัมน์ : รอบรั้วโรงเรียนปลอดบุหรี่

ถ้าพูดถึงเด็กหลังห้อง ทุกคนก็จะนึกถึงเด็กกลุ่มเกเร ไม่ตั้งใจเรียน คุยเสียงดัง ไม่ชอบเรียนหนังสือ และที่โรงเรียนอนุบาลอัจฉรา ก็เป็นเช่นกัน เด็กหลังห้องของชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ คือการรวมตัวกันของเหล่าเด็กผู้ชาย ทั้ง ๑๘ คน ที่ไม่สนใจเรียน การบ้านไม่ชอบทำส่ง ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงของโรงเรียน เมื่อจบปีการศึกษาและขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ คุณครูสายชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ จึงจัดให้เด็กทั้ง ๑๘ คนอยู่ห้องเดียวกัน เพื่อให้คุณครูคอยแก้ปัญหา แต่ใครจะเป็นครูประจำชั้นห้องนี้...ครูอาร์ม จึงอาสาดูแลเด็กๆชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ / ๒ นั้นเอง

เมื่อเด็กผู้ชาย ทั้ง ๑๘ คนมารวมตัวกันโดยมีครูประจำชั้นเป็นผู้ชาย ครูอาร์มจึงขนานนามห้องของเราว่า ห้อง "๑๘ อรหันต์ " เด็กๆ เหล่านี้ เมื่อสัมผัสจริงๆ จึงพบว่า เป็นเด็กมีปัญหา ครอบครัวไม่สมบูรณ์ และเป็นเด็กพิเศษ สมาธิสั้น และที่สำคัญ เด็กๆกลุ่มนี้กำลังเข้าสู่ภาวะเสี่ยงกับการสูบบุหรี่ โดยเพื่อนที่บ้านชักชวน

ครูอาร์มจึงใช้วิธีการพูดคุยกับเด็กๆ ให้เหมือนเพื่อนหรือพี่ชาย การสั่งงานสั่งการบ้านก็จะไม่มากมายนัก แต่เน้นพาทำพูดคุย และลงมือปฏิบัติ สิ่งที่เป็นจุดเด่นของทั้ง ๑๘ อรหันต์ของครูอาร์ม คือ เมื่อเรียกใช้งาน เด็กๆ กลุ่มนี้จะอาสาและช่วยทำงานอย่างเต็มที่ 

ในอำเภอสูงเนิน มีการประกวดเทศกาลว่าวเมืองสูงเนิน ซึ่งจะแข่งในช่วงเดือนธันวาคม ครูจึงคิดว่าน่าจะดึงเด็กกลุ่มนี้มาทำกิจกรรมนี้ จากการเชิญชวนเด็กๆ ก็แย่งกัน “ถ้าอย่างนั้นปีนี้เรามาทำว่าวประกวดกันไหม” เด็กๆ ตกลงกันว่าจะทำว่าวประเภทสร้างสรรค์ ประกวดงานสูงเนินเมืองว่าว

ช่วงเวลาทำว่าวเป็นช่วงเวลาที่เราได้เห็นความมุ่งมั่น ตั้งใจ และมีสมาธิของเด็กๆ การทำงานเป็นทีม และการเป็นผู้นำผู้ตามของเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี จนผู้ปกครองเห็นความเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ผู้ปกครองยินดีและสนับสนุนเด็กๆ อีกทาง

“ครูครับๆ ว่าวของเรามันโล่งๆ เราวาดรูปใส่ลงไปไหมครับ วาดโลโก้ห้ามสูบบุหรี่ วาดรูปเมืองสูงเนินใส่ลงไปดีไหมครับ” แนวคิดนี้จึงเป็นที่มาในการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่บนว่าวของพวกเรา

เมื่อวันแข่งมาถึง เราเดินขบวนแห่ว่าวรอบอำเภอ ว่าวที่เด็กๆ ทำ ได้กระจายให้เพื่อนๆ ในโรงเรียนเดินถืออวดโฉม ทั้งว่าวตัวใหญ่ที่ติดชื่อโรงเรียน และว่าตัวเล็กที่เพ้นท์ลายรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ อวดโฉมให้คนทั้งอำเภอได้เห็น รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ ๑ ว่าวประเภทสร้างสรรค์ ได้แก่ ทีมอนุบาลอัจฉรา เด็กๆ ต่างหันมามองหน้ากัน และยิ้มจนหน้าบานวิ่งมารับรางวัลด้วยความตกใจ นี่คือความสำเร็จและความภาคภูมิใจของเด็กๆ ๑๘ อรหันต์ ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงกลายเป็น ๑๘ คนที่มีความภูมิใจและเป็นที่ยอมรับของเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ในโรงเรียน เกิดความภูมิใจในตนเองมากขึ้น เมื่อถึงวันจบการศึกษา เด็กๆบอกว่า “ปีหน้า ผมขึ้น ม.๑ ผมจะกลับมาทำว่าวกับครูอีกนะครับ” ทุกคนคือความภูมิใจของครู ของโรงเรียน และหวังว่าเด็กๆ จะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งไม่ดี หวังว่าเด็กๆ จะมีภูมิคุ้มกันที่ดี และรักตัวเองตลอดไป

 

ข้อมูลจาก ครูอาร์ม : อัครเดช อินทรสถาพร อนุบาลอัจฉรา

เผยแพร่ 14 กันยายน 2562