ผู้ทรงคุณวุฒิด้านควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ 20 จังหวัดภาคอีสานรวมพลังขับเคลื่อนนโยบายจังหวัดปลอดบุหรี่

คอลัมน์ จับกระแส

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับ กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดการสัมมนาผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ระดับจังหวัด ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด เพื่อทำความเข้าใจถึงบทบาทและพัฒนาเสริมสมรรถนะ การจัดกลไกในการทำงานแบบ Model development แก่ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยเลขานุการในคณะกรรมการฯ และสื่อมวลชน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และสามารถดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบจังหวัด ให้บรรลุเป้าหมายนโยบายควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ระหว่างวันที่ 13-15 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรมประจักษ์ตรา ดีไซน์ โฮเทล อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี และในวันที่ 13 พฤศจิกายน มีการลงพื้นที่ ณ สวนสาธารณะประจักษ์ ซึ่งเป็นสวนสุขภาพ สถานที่ออกกำลังกายขนาดใหญ่ นำโดย นายแพทย์ปรเมษฐ์ กิ่งโก้ นพ.สาธารณสุข จังหวัดอุดรธานี และ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เดินนำขบวนผู้ทรงคุณวุฒิฯ 

นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) กล่าวว่า ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ระดับจังหวัดทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการแพทย์หรือการสาธารณสุข, กฎหมาย, นิเทศศาสตร์หรือสื่อสารมวลชน, การคุ้มครองสิทธิสตรีหรือสิทธิเด็ก, การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ในการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชน เป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะช่วยให้ข้อเสนอแนะด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะความรู้และข้อมูลที่แต่ละท่านเชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ สามารถนำมาช่วยเสริมหนุนและผลักดันคณะทำงานทุก ๆ ภาคส่วนของจังหวัดตัวเอง ให้การดำเนินงานด้านควบคุมยาสูบตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบจังหวัดให้มีประสิทธิภาพและสามารถลดอัตราการสูบบุหรี่ในพื้นที่ของตัวเองเป็นจริงได้ 

ผศ.ดร.ศรัณญา เบญจกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติควบคุมยาสูบของประเทศไทย และนักวิชาการจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ.2560 ภาคอีสานมีอัตราผู้สูบบุหรี่ถึงร้อยละ 21.1 เป็นอันดับ 2 รองจากภาคใต้ โดยทั้งภาคอีสานมีผู้สูบบุหรี่รวมทั้งสิ้น 3,159,294 คน จากจำนวนผู้สูบบุหรี่ทั้งหมดของประเทศ 10.7 ล้านคน

การสัมมนาครั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิได้ช่วยกันร่วมระดมความคิด และวางแผนกำหนดตัวชี้วัดสำคัญ ในการทำให้จังหวัดปลอดบุหรี่เป็นจริง  ตามแผนยุทธศาสตร์ทั้ง 4 สรุปได้ดังนี้ 

1) เสริมสร้างความเข้มแข็งการควบคุมยาสูบในระดับจังหวัด ด้วยการเชิญผู้นำในระดับอำเภอ ตำบล มาชี้แจงทำความเข้าใจในกฎหมายใหม่ ปี 2560 และร่วมเป็นคณะทำงาน สร้างความเข้มแข็งในทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนงานไปพร้อมๆ กันแบบยั่งยืน 

2) ป้องกันนักสูบหน้าใหม่และเฝ้าระวังกลยุทธ์ของธุรกิจยาสูบ ด้วยการให้ศึกษาธิการจังหวัดประกาศทุกโรงเรียนต้องปลอดบุหรี่แบบ 100 % ตามที่กฎหมายระบุ สร้างแกนนำเยาวชนให้ความรู้เรื่องเรื่องโรงเรียนปลอดบุหรี่ การรู้จักปฏิเสธและการป้องกันตนเองต่อการไม่สูบบุหรี่ การจัดกิจกรรมรณรงค์กับร้านค้าบริเวณรอบโรงเรียน และในชุมชนเกี่ยวกับการห้ามซื้อ - ห้ามขายบุหรี่ ตามกฎหมายใหม่ 

3) ช่วยผู้เสพให้เลิกยาสูบ มีความคิดเห็นว่า สสจ. ต้องเป็นหลัก ทำงานเชื่อมกับ รพ.สต. และสร้่างทีม อสม.ให้มีบทบาทในการช่วยคนในชุมชนให้เลิกบุหรี่ เพราะเป็นผู้ใกล้ชิดกับชุมชนมากที่สุด 

4) ทำสิ่งแวดล้อมที่ปลอดบุหรี่ ไปสู่การปฏิบัติ มีการประชาสัมพันธ์ และประกาศให้ทุกสถานที่ที่กฎหมายกำหนดเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ต้องปลอดอย่างแท้จริง ด้วยการขึ้นป่้ายอย่างเป็นรูปธรรมและมีการปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยเฉพาะศาลากลางจังหวัดต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ผู้ปฏิบัติการต้องปฏิบัติจริงและเข้มแข็ง 

ทุกจังหวัดต่างให้คำมั่นสัญญาและกำหนดเป็นแนวทางและพร้อมที่จะเพ่ิมติดป้ายสถานที่สาธารณะ ลดนักสูบหน้าใหม่ ขยายช่วยคนเลิกได้ เย้ เย้ เย้....สู่จังหวัดปลอดบุหรี่แบบยั่งยืน

ข้อมูลโดย สุขสันต์ เสลานนท์ smartnews 

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562