ชวนวัยรุ่นนักดื่มและนักสูบ “ลด ละ เลิก” เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

คอลัมน์ : จับกระแส

สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท) ร่วมกับเครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส) และศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) จัดเวทีเสวนา “เหล้า บุหรี่ กับความเสี่ยง โควิด-19” เพื่อสร้างความตระหนักในการป้องกันตนเองจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

นายพชรพรรษ์  ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์ฯ กล่าวว่า  “ตามที่สถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในหลายประเทศทั่วโลก โดยพบผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2563 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้การระบาดของโรคดังกล่าว เป็นภาวะฉุกเฉิน ทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ

กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทย ได้มีประกาศให้โรค COVID - 19 เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พุทธศักราช 2558 เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย  “เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข (สธ) ประกาศพบผู้ติดเชื้อรายใหม่พร้อมกันถึง 11 คน ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ร่วมกัน ส่งผลทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวจึงไม่อยากให้สังคมตำหนิบุคคลทั้ง 11 คน แต่อยากให้นับเป็นบทเรียนร่วมกัน และใช้โอกาสของการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 เป็นจุดเริ่มต้นในการเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และ การสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า เพราะไม่ใช่แค่ติดเชื้อไวรัสจากการดื่มหรือสูบร่วมกันเท่านั้น แต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ยังเป็นต้นเหตุทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแย่ลงอย่างมากอีกด้วย”

ด้าน ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ กล่าวว่า การสูบบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า เสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID - 19 ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ 1.การสูบบุหรี่มวน และบุหรี่ไฟฟ้าทำให้ปอดไม่แข็งแรง การสูบบุหรี่ แม้เพียงมวนเดียวก็ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจและสุขภาพปอด และถ้าสูบเป็นระยะเวลานานสามารถนำไปสู่โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) เสี่ยงติดเชื้อมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับรายงานจากวารสารการแพทย์ของประเทศจีน ที่ระบุว่า ในผู้ป่วยที่มีอาการทรุดลงรวมถึงเสียชีวิตเป็นผู้สูบบุหรี่มากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ถึง 14 เท่า และ 2.คือการแบ่งกันเสพ บุหรี่มวนเดียวกัน หรือการใช้บุหรี่ไฟฟ้าร่วมกัน อาจจะส่งผลต่อการติดเชื้อ COVID-19 ได้จากทางน้ำลายหรือเสมหะ

ดังนั้นช่วงเวลานี้จึงถือเป็นโอกาสที่ดี ที่จะร่วมเชิญชวนวัยรุ่น หรือนักดื่มนักสูบทุกคน “ลด ละ เลิก” อบายมุขต่าง ๆ

ข้อมูล : พชรพรรษ์  ประจวบลาภ สถาบันยุวทัศน์

เผยแพร่ 20 มีนาคม 2563