ร่วมกันทำ "บ้านให้ปลอดบุหรี่" ปกป้องคนที่คุณรักจากควันพิษ
คอลัมน์ความเคลื่อนไหว : SMART Online เดือนมกราคม 2560
นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดเผยว่า ได้ร่วมรณรงค์ส่งเสริมโครงการ "บ้านปลอดบุหรี่" มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 ภายใต้ความเชื่อว่า สุขภาพที่ดีเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถทำให้เกิดได้ด้วยตนเอง โดยเริ่มต้นจากที่บ้าน และเริ่มตั้งแต่เด็ก การทำให้บ้านที่เด็กอาศัยอยู่ปลอดภัยและเอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีของเด็ก ซึ่งคำว่าบ้านปลอดบุหรี่ก็คือไม่สูบบุหรี่ในบ้าน ไม่สูบบุหรี่ใกล้เด็กและคนท้องจากการสำรวจของสถาบันสุขภาพเด็กฯ พบว่า ร้อยละ 82 ของพ่อแม่ผู้ปกครองที่สูบบุหรี่จะสูบบุหรี่ในบ้าน
แพทย์หญิงนัยนา ณีศะนันท์ ประธานโครงการฯ กล่าวว่า การดำเนินงานขับเคลื่อนและขยายผลโครงการบ้านปลอดบุหรี่ตลอดระยะเวลา 9 ปี พบว่า เกิดการตื่นตัวของสังคมไทยในเรื่อง "บุหรี่มือสอง" และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ โดยนำเอาประเด็นของ "ความรักและความปรารถนาดี" ที่มีต่อลูกหลานและสมาชิกในครอบครัว มาเป็นเครื่องมือสร้างความรู้ ความตระหนัก และความเข้าใจ ทำให้สมาชิกในครอบครัวปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่นอกบ้าน และลด ละ เลิกได้ในที่สุด
"โมเดลในการทำงานร่วมกับชุมชนในระยะที่ 3 ผ่านโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเป็นผู้ลงไปติดตาม และกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในเรื่องบ้านปลอดบุหรี่ถึงในครัวเรือนอย่างสมํ่าเสมอ เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในพฤติกรรมของการสูบบุหรี่ภายในบ้าน หรือแม้กระทั่งสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับชุมชนได้มากที่สุด
"ทำให้สามารถนำแนวทางการดำเนินงานต่างๆ เหล่านี้ไปขยายผลทำบ้านให้ปลอดบุหรี่เพื่อสุขภาพที่ยั่งยืนของเด็กไทย เกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ของคนไทยที่จะไม่สูบบุหรี่ภายในบ้าน เกิดเป็นชุมชนไม่สูบบุหรี่ในบ้าน หรือไม่สูบบุหรี่ใกล้เด็ก ที่สามารถขยายผลไปสู่การลด ละ เลิกพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของคนไทย รวมไปถึงป้องกันการเกิดขึ้นของนักสูบหน้าใหม่อย่างได้ผลและยั่งยืน"
ข้อมูลโดย สุขสันต์ เสลานนท์