"ติดบุหรี่ ติดโควิด เสี่ยงตายสูง" 31 พฤษภาคม 2563
คอลัมน์ : จับกระแส
31 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก เนื่องจากปีนี้ประเทศไทยและทั่วโลก ประสบปัญหาการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID – 19) ดังนั้น มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และภาคีเครือข่าย จึงกำหนดคำขวัญเพื่อใช้รณรงค์ในวันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2563 คือ “ติดบุหรี่ ติดโควิด เสี่ยงตายสูง #เลิกสูบลดเสี่ยง" เพื่อเชิญชวนภาคีเครือข่าย ให้ความสำคัญในการรณรงค์ถึงผลกระทบของบุหรี่ ซึ่งส่งผลร้ายและลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการปอดอักเสบรุนแรง หากติดเชื้อ COVID–19
โดยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 มูลนิธิรณรงค์ฯ ร่วมกับภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดสัมมนาเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 2563 ตามประเด็นรณรงค์ “ติดบุหรี่ ติดโควิด เสี่ยงตายสูง #เลิกสูบลดเสี่ยง” ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ให้กับเครือข่ายนักรณรงค์ โดยมีเครือข่ายสื่อมวลชน เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ และเครือข่ายผู้นำนักขับเคลื่อนนโยบายควบคุมยาสูบ เข้าร่วมจำนวน 69 ท่าน ผ่านโปรแกรม ZOOM Mitting โดยมีวิทยากรทั้ง 4 ท่าน คือ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์ฯ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบหายใจและวัณโรค คณะแพทยศาสตร์พยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และแพทย์หญิงธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หรือ หมอผิง อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังด้านสุขภาพสังคมออนไลน์
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เปิดเผยว่า “การสูบบุหรี่ทำให้ปอดได้รับอันตรายทำให้ภูมิต้านทานโรคของปอดลดลง เพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อโรคหลายๆ ชนิด รวมทั้งเป็นสาเหตุหลักของโรคเรื้อรังที่รวมถึง โรคถุงลมปอดพอง โรคหัวใจและเบาหวาน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด - 19 รุนแรงและเสียชีวิตก่อนเวลา และยังมีหลักฐานที่เพิ่มขึ้นว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อปอดเช่นกัน ซึ่งทำให้การสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เมื่อเผชิญกับ โควิด-19” การเปิดเผยกลยุทธ์การตลาดที่ธุรกิจบุหรี่และผลิตภัณฑ์นิโคตินใช้กับเยาวชน เช่น การออกผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ การแต่งกลิ่น เพิ่มความตระหนัก และสนับสนุนให้เยาวชนรู้เท่าทันกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อลบล้างความเชื่อผิดๆ รวมถึงการสนับสนุนให้ผู้มีชื่อเสียง influencer มาร่วมเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง และปกป้องเยาวชนจากธุรกิจบุหรี่และผลิตภัณฑ์นิโคติน ตามที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดเป็นประเด็นรณรงค์ในวันงดสูบบุหรี่โลกในปีนี้
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล เป็นที่ทราบกันดีว่า ควันบุหรี่ทั้งมือหนึ่งและมือสองทำให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบการหายใจได้ง่ายขึ้น ทั้งไวรัส แบคทีเรีย และวัณโรค โดยเป็นผลจากการไปรบกวนระบบป้องกันตนเองในเยื่อบุระบบการหายใจของมนุษย์ ผู้ป่วยในประเทศจีน 11,590 คน ส่วนใหญ่สูบหรือเคยสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงต่อการทำให้โรคลุกลาม 1.91 เท่า ข้อมูลจากประเทศแคนาดา ผู้สูบบุหรี่โดยเฉพาะในรายที่มีโรคถุงลมโป่งพองร่วมด้วย จะเพิ่มช่องทางให้เชื้อก่อโรคโควิด-19 เข้าสู่เยื่อบุหลอดลม เชื้อซาร์ส โควี-2 มีขนาดประมาณ 0.1 ไมโครเมตร จึงสามารถติดไปได้กับละอองฝอยมือสองที่เกิดจากบุหรี่มวนหรือบุหรี่ไฟฟ้าที่มีขนาด 0.2-0.5 ไมโครเมตร ทำให้เกิดละอองฝอยรวมละอองฝอยจะมากกว่า ถ้ามีควันบุหรี่พาไปก็จะลอยอยู่ในอากาศและไปได้ไกลกว่าระยะ 2 เมตร ในขนาดที่สามารถชอนไชเข้าสู่ปอด เป็นอันตรายต่อระบบการหายใจของมนุษย์ ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุ มีการอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง มีการสร้างเมือกมากขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ถูกทำลายเชื้อโรคทุกชนิด ไม่เว้นแม้เชื้อก่อโรคโควิด-19 ทำให้คนที่ยังสูบบุหรี่หรือเพิ่งเลิกไม่นาน มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากขึ้น โรคลุกลามง่ายขึ้น และมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่หรือเลิกสูบมานานแล้ว หยุดบุหรี่หยุดเสี่ยงโควิด-19“
นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ “ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและรัฐบาลประเทศต่างๆ กำลังเผชิญกับปัญหาทางสุขภาพ และเศรษฐกิจ อันเป็นผลจากการระบาดของ COVID-19 บริษัทบุหรี่กลับใช้โอกาสนี้ในการส่งเสริมการขาย และเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงว่าการสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าสามารถป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ในการประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2563 ได้สรุปประเด็นการรณรงค์โดยมีเป้าหมายหลักคือ การผลักดันให้ประชาชนสุขภาพดี คืนคนปอดดีสู่ครอบครัว 10,000 ราย (ช่วยคนเลิกบุหรี่) ผลักดันให้มีคลินิกเลิกบุหรี่แบบครบวงจร ทั่วประเทศ ซึ่งศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ และองค์การอนามัยโลก รวมทั้งหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ Public Health England ก็แนะนำให้หยุดสูบบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 รุนแรง “
แพทย์หญิงธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หรือ หมอผิง คุณหมอผิงได้ให้แนะแนวทางการสื่อสารเพี่อสร้างความเข้าใจในช่วงการระบาดของโรคโควิด – 19 โดยเฉพาะเรื่องอันตรายของการสูบบุหรี่กับการแพร่เชื้อไวรัส เรื่องเกี่ยวกับสุขภาพต่างๆ ในการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจ จำเป็นต้องสืบหาแหล่งข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญ ก่อนที่จะแชร์ข้อมูลออกไป โดยให้ยึดหลัก 3 ช. คือ ช.แรก เช็ค ควรเช็คแหล่งข้อมูลที่มาว่ามีความน่าเชื่อถือได้แค่ไหน ควรเป็นข้อมูลจากองค์กรที่ตรวจสอบได้ ถ้าเป็นข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ ควรต้องแยกแยะว่าเป็นข้อเท็จจริง ข้อมูลจากงานวิจัย สถิติ หรือความเห็นส่วนตัว ช.ที่สองคือ ชับ หรือกระชับ ควรสื่อสารแบบกระชับ ได้ใจความ จึงจะไปถึงวงกว้างได้ ช.สุดท้ายคือ แชร์ ในการแชร์ควรระบุแหล่งที่มาของข้อมูล เพื่อให้เกิดการย้อนตรวจสอบได้ และระมัดระวังการแชร์ข้อมูลที่เป็นข่าวลวง รวมถึงข้อมูลที่กระทบต่อความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น เช่น ข้อมูลหรือภาพของผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วยค่ะ"
คุณหมอยังได้เล่าให้ฟังอีกว่า การเป็นฟลูเอนเซอร์ก็จะเป็นที่จับตามองของสินค้า ก็มีบริษัทค้ายาสูบมาติดต่อให้หมอเขียนเรื่องเกี่ยวกับบุหรี่ หมอเห็นว่าไม่ควร ไม่เหมาะสม เราก็ไม่ทำ แล้วก็ได้ตามข้อมูล มีการนำเสนอข่าวสารบ่อยๆ ว่ามันไม่ดี มันเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคน เราก็เลือกที่จะไม่ทำค่ะ”
“ติดบุหรี่ ติดโควิด เสี่ยงตายสูง #เลิกสูบลดเสี่ยง” ต้องการสื่อรณรงค์หรือรายละเอียดข้อมูลวันงดสูบบุหรี่โลก ติดต่อขอรับได้ที่มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โทร 02 2781828-9 หรือ www.smokefreezone.or.th
ข้อมูลโดย สุขสันต์ เสลานนท์
Smartnews 19 พฤษภาคม 2563