“หวังดีกับประเทศไทยหรือหวังกำไร จากการค้าบุหรี่ไฟฟ้า” เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2563

คอลัมน์ : จับกระแส

 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมกับเครือข่ายเยาวชนทั่วประเทศ จัดแถลงข่าวออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “หวังดีกับประเทศไทยหรือหวังกำไร จากการค้าบุหรี่ไฟฟ้า” เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2563 โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดประเด็นรณรงค์ “Protecting youth from industry manipulation and preventing them from tobacco and nicotine use” เพื่อให้เยาวชนรู้เท่าทันกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบ และปกป้องเยาวชนจากการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบ และผลิตภัณฑ์ที่มีนิโคติน

ขณะที่ประเทศไทยกำหนดคำขวัญรณรงค์ว่า “ติดบุหรี่ ติดโควิด เสี่ยงตายสูง” หลังพบเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้น สวนทางกับกระแสโลกที่เรียกร้องให้เลิกสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อลดความเสี่ยงการระบาดของโรคโควิด-19 

 

 

 

นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวในฐานะหน่วยงานที่ขับเคลื่อนงานประเด็นด้านสุขภาพของเด็กและเยาวชนมากว่า 10 ปี ยท.พร้อมด้วยเครือข่ายเด็กและเยาวชน มีแผนการดำเนินงานเพื่อปกป้องเพื่อนเยาวชน และต่อสู้กับธุรกิจยาสูบข้ามชาติที่ดำเนินธุรกิจอย่างไร้จริยธรรม ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยได้จัดตั้งทีมเฝ้าระวังการตลาดของธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 จนถึงเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา พบมี ผู้ค้าบุหรี่ไฟฟ้ามักอ้างเหตุผลสวยหรู เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบุหรี่ไฟฟ้า ที่ให้ความหวังดีแบบจอมปลอม โดยอ้างว่าประเทศไทยจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเก็บภาษีจากการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกกฎหมาย ทั้งที่ข้อเท็จจริงคือ แม้จะเก็บภาษีได้มากขึ้น แต่ก็เทียบไม่ได้กับมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจและสาธารณสุขจากผู้ป่วย ที่สูบบุหรี่ ซึ่งประเทศไทยต้องสูญเสียไปกว่าปีละกว่า 5.2 หมื่นล้านบาท เป็นค่ารักษาพยาบาล 3.2 หมื่นล้านบาท และค่าสูญเสียโอกาสที่ประเทศชาติควรได้รับหากคนไทยไม่เจ็บป่วยจากการสูบบุหรี่อีกกว่า 2 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีความพยายาม สร้างภาพลักษณ์ให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าบุหรี่ทั่วไป ทำให้คนไทยเจ็บป่วยน้อยลง และไม่ได้คิดค้นผลิตภัณฑ์นี้มาเพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนใช้สูบ “ข้ออ้างเหล่านี้สวนทางกับข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประเทศไทย โดยมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ปี 2559 ที่พบเด็กและเยาวชนอายุน้อยกว่า 18 ปี สูบบุหรี่มากกว่า 4 แสนคน ในจำนวนนี้หากครึ่งหนึ่งเปลี่ยนไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยซื้อบุหรี่ไฟฟ้าสูบแค่คนละ 1 เครื่อง ธุรกิจยาสูบจะมีรายได้กว่า 200 ล้านบาท ยังไม่นับรายได้จากการขายน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์เสริม ธุรกิจยาสูบพยายามทุกวิถีทางเพื่อหาลูกค้ากลุ่มใหม่เข้าสู่วังวนการเสพติดสารนิโคติน ทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ล่อใจวัยรุ่น รวมถึงสร้างมายาคติ ความเชื่อผิดๆ ต่อสินค้าเสพติดให้แก่เด็กและเยาวชน ทำให้วัยรุ่นติดบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะการใช้เทคนิคการตลาดที่หวังเปลี่ยนทัศนคติคนรุ่นใหม่ให้มอง “บุหรี่ไฟฟ้า” เป็นพระเอก ขี่ม้าขาวช่วยคนติดบุหรี่ให้มีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น” ซึ่งเป็นภาพที่จอมปลอมทั้งสิ้น” นายพชรพรรษ์ กล่าว

นายเอา จอ ซัน นักศึกษาสาขาการตลาด วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ (SBAC) หนึ่งในทีมเยาวชนที่เข้าร่วมเฝ้าระวัง กล่าวว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังพบว่า “สื่อออนไลน์” เป็นช่องทางหลักที่มีการลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย และพบว่าคนขายทั้งหมดเป็นคนไทย โดยช่องทาง Facebook มียอดรับชมและกดติดตามที่เกี่ยวข้องกับการขายบุหรี่ไฟฟ้ากว่า 620,120 คน, Twitter 5,155 ครั้ง, Instagram 134,640 ครั้ง และยอดรับชมการทดลองใช้งานสินค้าการที่เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าใน Youtube สูงกว่า 192 ล้านครั้ง มีผู้กดติดตามสูงกว่า 784,505 คน

ทั้งนี้หากเทียบเคียงกับข้อมูลจากกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม เมื่อปี 2561 พบว่า อายุของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงที่สุดก็คือ กลุ่ม “Gen Z” หรือผู้เกิดตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นไป ตามด้วย Gen Y , X และกลุ่มผู้มีอายุตามลำดับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นแผนการของธุรกิจยาสูบได้อย่างชัดเจน เพราะการมุ่งเป้าทำการตลาดในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ เท่ากับต้องการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าอายุระหว่าง 15-24 ปี ซึ่งสวนทางกับข้ออ้างที่อุตสาหกรรมยาสูบระบุว่าไม่ต้องการขายบุหรี่ไฟฟ้าให้กับเด็กและเยาวชน

นางสาวปนัสยา งามนิจ นักศึกษาคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หนึ่งในทีมเยาวชนที่เข้าร่วมเฝ้าระวัง กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ประชาชน ทุกคนมีการปฏิบัติตามคำแนะนำบุคลากรทางการแพทย์ ส่งผลทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลง และยังได้รับคำชื่นชมจากนานาชาติว่าประเทศไทย เป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางสาธารณสุข จึงอยากให้เด็ก เยาวชน และประชาชน ได้ “เชื่อหมอ” ต่อไป โดยเฉพาะคำเตือนเกี่ยวกับผลเสียที่เกิดขึ้นจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่มีระดับความปลอดภัย ทั้งนี้ ขอฝากถึงรัฐบาลให้เร่งรัดจับกุมผู้ลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้รัฐบาลต้อง “การ์ดอย่าตก” ในการควบคุมและบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เช่นเดียวกันกับการควบคุมสถานการณ์โควิด-19

 

นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย

Smartnews 22 พฤษภาคม 2563