ประธานสมาพันธ์ฯ แนะควรเพิ่ม “ยาเลิกบุหรี่” เข้าในบัญชียาหลัก

คอลัมน์ : จับกระแส

ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา ในฐานะประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า สมาพันธ์ฯ ได้เริ่มต้นการขับเคลื่อนรณรงค์เพื่อให้สังคมไทยปลอดบุหรี่มาเป็นระยะเวลาเกือบสิบปีแล้ว มีบุคลากรภาคส่วนต่างๆ มาร่วมกันทำงาน เพื่อต้องการแสดงพลังให้สังคมไทยปลอดจากบุหรี่มากขึ้น ที่ผ่านมาสมาพันธ์ฯ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการขับเคลื่อนงาน โดยจัดกิจกรรมใหญ่ทุก 2 ปี และประชุมวิชาการทุกปี ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข สถานศึกษา เครือข่ายภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อลดอัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยให้ลดลงเหลือร้อยละ 15 ภายในปี 2568 ตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก

นอกจากนี้สมาพันธ์ฯ ยังจัดตั้งเครือข่ายสมาพันธ์จังหวัดขึ้น เพื่อเป็นกลไกในการผลักดันการแก้ไขปัญหายาสูบภายในจังหวัด ซึ่งเป็นการขยายภาคีเครือข่ายและการมีส่วนร่วมในเชิงรุก ปัจจุบันมีเครือข่ายสมาพันธ์จังหวัด 26 จังหวัด ซึ่งสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและประชาชนในพื้นที่ ในการขับเคลื่อนงานเพื่อลดการสูบบุหรี่ในพื้นที่ของตัวเองได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 สมาพันธ์ฯ และภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบได้ร่วมกันดำเนินงานโครงการ “เลิกสูบ ลดเชื้อ เลี่ยงวิกฤติ COVID-19” รณรงค์ให้ประชาชนเลิกสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 เครือข่ายสมาพันธ์จังหวัดเป็นกลไกและมีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายของการสูบบุหรี่ ให้กับประชาชนตามบริบทของแต่ละพื้นที่ อาทิ เครือข่ายสมาพันธ์จังหวัดยะลา และจังหวัดสตูล มีการบูรณาการงานร่วมกับกองอำนวยการศูนย์สังเกตอาการ (Local Quarantine) ในการให้ความรู้แก่ผู้สังเกตอาการรวมทั้งประชาชนทั่วไป เครือข่ายสมาพันธ์จังหวัดปัตตานี ซึ่งการขับเคลื่อนดังกล่าว ทำให้คนในพื้นที่เกิดการตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการเลิกสูบบุหรี่มากขึ้นด้วย

ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี กล่าวถึง การช่วยให้ประชาชนเลิกสูบบุหรี่ว่า นอกจากจะขับเคลื่อนผ่านภาคีต่างๆ หรือแม้แต่การสร้างความเข้มแข็งในชุมชนเพื่อให้เกิดการเลิกบุหรี่อย่างจริงจัง ผ่านรูปแบบการนำสมุนไพรในพื้นที่มาเป็นตัวช่วยสำคัญ สำหรับคนที่สูบบุหรี่หนัก บางรายจำเป็นต้องใช้ยาร่วมด้วย นั่นคือ “ยาวาเรนิคลิน” (Varenicline) ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยผู้ที่กำลังเลิกสูบบุหรี่อยู่โดยเฉพาะ ยานี้จะทำปฏิกิริยารบกวนกับตัวรับสารนิโคตินในสมอง โดยออกฤทธิ์ได้สองทาง คือ ลดความสุขในการสูบบุหรี่และช่วยลดอาการของการขาดสารนิโคตินได้ ถือว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าสมุนไพร

แต่ปัจจุบัน ยานี้ยังไม่ได้รับการบรรจุเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งหากสามารถเดินหน้าขับเคลื่อนในเรื่องนี้ได้ ก็เชื่อว่าจะทำให้ผู้ที่อยากจะเลิกสูบบุหรี่เข้ามาขอรับบริการบำบัดรักษาการติดนิโคตินมากขึ้น เลิกได้สำเร็จมากขึ้น และส่งผลให้จำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงอย่างมากอีกด้วย และถึงแม้จะมีความท้าทายเหล่านี้ แต่ก็ยังมีทิศทางที่ดีคือประชาชนต่างเห็นถึงความสำคัญของการเลิกบุหรี่มากขึ้น มีการมาช่วยเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์รณรงค์ต่างๆ อีกด้วย”

การสูบบุหรี่ถือว่าเป็นการเพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิตจาก COVID-19 เพราะไวรัสชนิดนี้มีผลโดยตรงต่อปอด เพราะหากปอดอ่อนแอจากการสูบบุหรี่อยู่แล้ว ก็อาจจะทำให้ระบบของปอดล้มเหลวจนเสียชีวิตได้ ดังเช่นแนวคิดของวันงดสูบบุรี่โลกของประเทศไทยในปีนี้ ที่ระบุอย่างชัดเจนว่า “ติดบุหรี่ ติดโควิด เสี่ยงตายสูง” กล่าวทิ้งท้าย 

ข้อมูลจาก สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ 

Smartnews เผยแพร่ 8 มิถุนายน 2563