"มูราคามิ" นักเขียนที่สร้างแรงบันดาลใจด้วยการวิ่งมาราธอน

คอลัมน์ : เก็บมาฝาก

“สิ่งที่ผมรู้ทั้งหมดในการเขียนนิยาย ผมเรียนรู้จากการวิ่งเป็นประจำทุกวัน” มูราคามิ กล่าวไว้ในหนังสือชื่อ “What I Talk about when I Talk about Running” (นพ ดล เวชสวัสดิ์ แปลในฉบับภาษาไทยว่า “เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง”) ที่เขาเขียนบันทึกในช่วงที่ฝึกซ้อมวิ่งมาราธอนอย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อเข้าร่วมรายการนิวยอร์กซิตี้มาราธอน ระยะทาง 42.195 กม. ในปี ค.ศ.2005 ขณะที่อายุ 50 ปี

สำหรับมูราคามิ เจ้าของผลงานชื่อดังอย่าง “Norwegian Wood” (ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย ในชื่อฉบับภาษาไทย) และ “South of the Border, West of the Sun” (การปรากฏตัวของหญิงสาวในคืนฝนตก) การวิ่งและการเขียนเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กัน เพราะการวิ่งมาราธอนช่วยให้เขายืนระยะการเขียนนวนิยายยาวๆ ได้ดีขึ้น

เกิดอะไรขึ้นกับนักเขียนชื่อดังคนนี้ที่เมื่อก่อนชีวิตเต็มไปด้วยควันบุหรี่ ความมึนเมา และดนตรีแจ๊ส แต่ตอนนี้อุปกรณ์ประจำตัวที่ขาดไม่ได้กลับเป็นรองเท้าวิ่ง…

มูราคามิเริ่มวิ่งเมื่ออายุ 33 ปี เพื่อเปลี่ยนชีวิตตัวเองใหม่จากเจ้าของธุรกิจบาร์แจ๊ซ สู่นักเขียนอาชีพ และเลิกสูบบุหรี่ภายในเวลาไม่กี่เดือน เขาอายุ 40 ปี ร่วมแข่งระยะ 15 กิโลเมตร และขยับเป็น 42 กิโลเมตร จนสามารถทำเวลาในการวิ่งมาราธอนราว 3 ชั่วโมง 40 กว่านาทีในช่วงวัย

เขาเข้าร่วมวิ่งในรายการใหญ่ๆ ของโลกเฉลี่ยปีละครั้ง ต่อเนื่องเป็นเวลา 30 ปี ไม่ว่าบอสตัสมาราธอน นิวยอร์กซิตี้มาราธอน โตเกียวมาราธอน รวมถึงวิ่งจากกรุงเอเธนส์ไปยังหมู่บ้านริมทะเลที่ชื่อมาราธอน เจ้าของตำนานกีฬาประเภทนี้ในประเทศกรีซ พอหยุดพักงานเขียนประจำวันเขาก็สวมรองเท้าลงซ้อมวิ่งยามเย็นเป็นกิจวัตร

ลุงมู เล่าในหนังสือว่า ตัวเขาซ้อมวิ่งสัปดาห์ละ 60 กม.และในขั้น “เอาจริงเอาจัง” จะเพิ่มเป็น 70 กม. จนถึงขั้น “เคี่ยวกรำ” ที่นักวิ่งจะซ้อมวันละประมาณ 10 กม. เท่ากันทุกวัน ถ้าวันหนึ่งวิ่งไป 15 กม. วันถัดมาก็ลดลงเหลือ 5 - 6 กม. หรือ 15 รอบสนามบนลู่วิ่งมาตรฐาน และวันถัดมาก็อาจวิ่งเร็วเป็นชุดๆ ที่เรียกว่า Interval Running ถือว่าเป็นการฝึกแบบใช้ทั้งไม้แข็งและไม้นวมให้กับร่างกาย เพื่อไม่ให้ลดทอนศักยภาพสูงสุดของตัวเอง

นอกเหนือจาก “การเคี่ยวกรำตนเอง ผลักดันให้เต็มขีดความสามารถของเพดานจำกัดของแต่ละคน นั่นเป็นหัวใจ” ที่เขาเขียนถึงการฝึกฝน การวิ่งยังช่วยบรรเทาความขุ่นเคืองในจิตใจด้วย “เวลาชั่วโมงหรือสองชั่วโมงที่ใช้ไปในการวิ่งจะเป็นการปกป้องห้วงเวลาเงียบสงัดส่วนตัว มีความสำคัญต่อสุขภาพจิตของผม”

ความมหัศจรรย์ของการวิ่งมาราธอนสำหรับมูราคามิ คือ แม้เขาจะวิ่งมาหลายสิบปี แต่ความรู้สึกของการวิ่ง 42.195 กิโลเมตร ไม่เคยเปลี่ยนไปจากเดิมเลย ในระหว่างที่วิ่งระยะ 30 กิโลเมตร คิดว่าต้องทำเวลาได้ดี แต่เมื่อพ้น 35 กิโลเมตร เชื้อเพลิงเริ่มแห้งและเริ่มมองทุกอย่างรอบข้างด้วยความขุ่นเคืองใจ เมื่อใกล้ถึงเส้นชัยรู้สึกเหมือนรถน้ำมันหมด แต่เมื่อวิ่งจบและเวลาผ่านไประยะหนึ่ง เขาจะลืมความเจ็บปวดทุกข์ใจไปสิ้นและเริ่มตั้งเป้าว่าครั้งหน้าต้องทำเวลา ได้ดีกว่าเดิม…

สำหรับ มูราคามิ เขาไม่ได้วิ่งเพื่อยืดชีวิตตนเองให้ยืนยาว แต่เพื่อเติมเต็มความหมายให้ชีวิต

เครดิตภาพ : www.harukimurakami.com / Pinterest : GREGG SEGAL หมายเหตุ : การอ้างคำพูดมูราคามิในบทความนี้เป็นสำนวนแปลของ นพดล เวชสวัสดิ์

ต้นเรื่อง : นิตยสารสารคดี มีนาคม พ.ศ.2555

Cr : sanook.com

ข้อคิดดีๆ ที่ได้ คือ การออกกำลังกาย การทานอาหารและการลด ละ เลิกสิ่งที่ทำลายสุขภาพ เป็นการเสริมสร้างร่างกายเพื่อยืดชีวิตและเติมเต็มความหมายให้ชีวิตอย่างที่ มูราคามิกล่าวไว้

Smartnews เผยแพร่ 4 กรกฎาคม 2563