ผู้หญิงต้องระวัง “4 มะเร็งร้าย” ที่คร่าชีวิตคุณได้

คอลัมน์ : เก็บมาฝาก

ผู้หญิงต้องระวัง " 4 มะเร็งร้าย" ที่คร่าชีวิตได้  ผู้หญิงมีโอกาสจะป่วยเป็นมะเร็งต่างๆ ได้บ่อย เพื่อให้ผู้หญิงได้รู้จักระมัดระวังและป้องกันตัวเอง ให้ห่างไกลจากโรคเหล่านี้ smartnews ขอนำข้อมูลความรู้จาก Tonkit 360 มีมาเผยแพร่เป็นความรู้ให้กับคุณผู้หญิง

1) มะเร็งเต้านม เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของหญิงไทย โดยพบผู้ป่วยได้ทุกช่วงอายุ ความเสี่ยงต่อโรคจะเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยเฉพาะผู้หญิงในช่วงวัยหมดประจำเดือน นอกจากนี้ โอกาสที่จะป่วยเป็นมะเร็งยังมาจากพันธุกรรม ความผิดปกติทางพันธุกรรม การใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นเวลานาน รวมไปถึงการใช้ชีวิตแบบทำร้ายสุขภาพต่าง ๆ

สามารถสังเกตเองได้ง่าย ด้วยการคลำเต้านมของตนเอง หากพบก้อนแข็ง ๆ มีลักษณะขรุขระ (บางรายอาจเป็นก้อนเรียบ) บางรายเจอบริเวณรักแร้ กดแล้วไม่เจ็บและไม่เคลื่อนตัว ทำให้หลาย ๆ คนนิ่งนอนใจว่า ไม่เจ็บก็คือไม่เป็นไร จนกระทั่งก้อนมะเร็งใหญ่ขึ้น รวมถึงอาการอื่น ๆ ที่พบได้ที่เต้านม คือมีรอยบุ๋มคล้ายลักยิ้ม รูปร่างของเต้านมผิดไปจากเดิม อาจพบแผลที่หัวนมและรอบหัวนม หรือมีน้ำเหลืองหรือเลือดไหลออกจากหัวนม และยังอาจพบอาการบวมแดงคล้ายการอักเสบที่เต้านมด้วยเช่นกัน อาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์ ทำการตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม (mammogram) และอัลตราซาวด์ (ultrasound) ซึ่งจะให้ผลค่อนข้างแม่นยำ อาจพบก้อน หรือจุดหินปูนในเนื้อเต้านม หากตรวจพบมะเร็งเต้านมได้เร็ว ก็จะลดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้

 

2) มะเร็งปากมดลูก เกิดจากการติดเชื้อเอชพีวี (HPV : Human Papilloma Virus infection)  เป็นเชื้อไวรัสที่สามารถติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์ หรือการไปสัมผัสกับเชื้อไวรัสตามที่สาธารณะ  ในปัจจุบันพบเชื้อชนิดนี้มากกว่า 100 สายพันธุ์ สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงจะพัฒนามาเป็นมะเร็งปากมดลูกได้มีอยู่ประมาณ 14 สายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์ 16 และสายพันธุ์ 18 ซึ่งทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้มากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ โดยผู้หญิงที่ติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 16 และ 18 นี้ จะมีโอกาสพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูกได้มากกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อเอชพีวีถึง 35 เท่าเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามมะเร็งปากมดลูก เป็นหนึ่งในมะเร็งไม่กี่ชนิดที่สามารถป้องกันได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ด้วยการหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์แบบที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อเอชพีวี รวมถึงการฉีดวัคซีนเอชพีวีเพื่อป้องกันโรค

  

3) มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ในผู้หญิงไทย ก้อนมะเร็งเติบโตได้โดยการกระตุ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งถ้าหากร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป หรือได้รับฮอร์โมนนี้จากแหล่งอื่น ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้เช่นเดียวกับโรคมะเร็งเต้านม โรคนี้จึงมักพบในผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน ผู้ที่มีเลือดออกทั้งที่หมดประจำเดือนแล้ว ก็ต้องหมั่นสังเกตสุขภาพของตนเอง ส่วนในผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ และมีปัญหาเกี่ยวกับประจำเดือนอยู่บ่อย ๆ เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ มามากกว่าปกติ มีภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง หรือเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติ และอาจมีอาการมดลูกโตขึ้น ปวดท้องน้อย คลำเจอก้อนบริเวณท้องน้อย หรือมดลูกไปเบียดกระเพาะปัสสาวะทำให้ปัสสาวะบ่อย หรือเบียดทวารหนักทำให้อุจจาระลำบาก ก็ต้องไปพบแพทย์

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่สามารถทำให้เป็นโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ คือ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อ้วน และมีประวัติทางพันธุกรรมว่าญาติสายตรงป่วยเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

4) มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งลำไส้ใหญ่ อาการเริ่มแรกของโรคมักจะไม่มีความผิดปกติที่สังเกตได้อย่างชัดเจน แต่ถ้าโรคเริ่มลุกลามจะมีอาการที่เกี่ยวกับระบบขับถ่าย คือ ท้องเสียสลับกับท้องผูกแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ปวดมวนในท้องเหมือนกับขับถ่ายไม่สุด ถ่ายเป็นเลือด และอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย เบื่ออาหารจนน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือคลำเจอก้อนในท้องร่วมด้วย ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ส่วนหนึ่งมาจากพันธุกรรม หากมีประวัติว่าคนในครอบครัวเคยป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะป่วยได้ หรือหากเคยตรวจพบติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ รวมถึงมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ดี อย่างการดื่มสุรา สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ 

โรคมะเร็งล้วนแล้วแต่คร่าชีวิตคนได้ทั้งสิ้น ดังนั้น การป้องกันสามารถทำได้โดยการดูแลสุขภาพ หมั่นออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ลดละเลิก สุรา บุหรี่ รวมถึงพยายามอย่าให้ตนเองเครียดเรื้อรัง และหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้รู้ความผิดปกติที่เกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์หรือไม่ ยิ่งรู้ได้เร็ว ก็ยิ่งรักษาให้หายได้มากขึ้น ....#เลิกสูบลดเสี่ยง

ขอบคุณข้อมูลและภาพ : TONKIT 360 ออนไลน์ 

Smartnews เผยแพร่วันที่ 22 กรกฎาคม 2563