เชคพฤติกรรม ทำร้ายตัวเองทางอ้อม เสี่ยงเป็น "มะเร็ง" ที่คนไทยป่วยมากที่สุด

คอลัมน์ : จับกระแส

     นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ  เปิดเผยข้อมูลว่า โดยประมาณการจํานวนผู้ป่วยปี 2020 พบว่า จะมีผู้ป่วยคนไทยประมาณ 142,000 ราย เป็นเพศชาย 68,489 และเพศหญิง 74,279 ราย เป็นจํานวนผู้ป่วยมะเร็งที่พบบ่อย 5 อันดับแรก ดังนี้ มะเร็งตับ 22,476 ราย มะเร็งปอด 17,386 ราย มะเร็งเต้านม 18,292 ราย มะเร็งลําไส้ใหญ่และไส้ตรง 15,704 ราย มะเร็งปากมดลูก 5,509 ราย

สาเหตุของมะเร็งทั้ง 5 อันดับที่พบบ่อยในคนไทย โรคมะเร็งเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย มีหลายชนิดขึ้นอยู่กับตําแหน่งที่เป็น จุดกําเนิดของโรคและชนิดของเซลล์มะเร็ง โดยทั่วไปยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคอย่างแน่ชัด แต่พบว่าน่าจะมาจากหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งปัจจัยด้านพันธุกรรม และปัจจัยภายนอก เช่น

1. การสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุการเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งปอด มะเร็งช่องปากและลําคอ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งตับอ่อน

2. การดื่มสุรา ทําให้เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งตับ มะเร็งช่องปากและลําคอ

3. การติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งท่อน้ําดี

4. การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัสเอชพีวี (Human Papilloma Virus) เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งปากมดลูก ไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซี (hepatitis B and hepatitis C virus) มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับ และไวรัส Epstein Barr Virus มีความเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก

5. การรับประทานเนื้อแดง เนื้อแปรรูป อาหารปิ้งย่างไหม้เกรียม อาหารที่ปนเปื้อนสารอะฟลาทอกซิน อาหารที่ใช้น้ํามันทอดซ้ำ เป็นต้น

6. การได้รับสารมลพิษจากการประกอบอาชีพ เช่น แร่ใยหิน ฝุ่นไม้ และสารเคมีจากยาปราบศัตรูพืช นอกจากนี้การได้รับมลภาวะทางอากาศก็ยังเพิ่มปัจจัยเสี่ยงอีกด้วย

อาการของโรคมะเร็ง ทั้ง 5 อันดับที่พบบ่อยในคนไทย แสดงอาการเช่นเดียวกับการอักเสบของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่เป็นมะเร็ง ซึ่งมีความแตกต่างกันไป สัญญาณโรคมะเร็งที่พบบ่อย 5 อันดับ เช่น

- มะเร็งตับ มักพบอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น อึดอัดท้อง โดยไม่เคยเป็นมาก่อน หรือมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง

- มะเร็งปอด มักพบอาการไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะปนเลือด หายใจลําบาก เหนื่อยหอบ หายใจมีเสียงหวีด เจ็บหน้าอก ปอดติดเชื้อบ่อย เป็นต้น

- มะเร็งเต้านม มักพบหรือคลําเจอก้อนที่เต้านมหรือรักแร้ รูปร่างหรือขนาดเต้านมผิดปกติ หัวนมบอด หรือมีแผลเรื้อรังที่หัวนม มีอาการเจ็บผิดปกติที่เต้านมหรือรักแร้ ผิวหนังของเต้านมมีรอยบุ๋ม บวม หนาคล้ายผิวเปลือกส้ม

- มะเร็งลําไส้ใหญ่และไส้ตรง มักมีอาการอุจจาระเป็นเลือด มูก หรือเป็นมูกเลือด ท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง ถ่ายไม่สุด ลําอุจจาระเล็กลง

- มะเร็งปากมดลูก มักพบอาการเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ มีประจําเดือนผิดปกติ หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดในวัยหมดประจําเดือน หรือหลังมีเพศสัมพันธ์ทั้งที่ไม่เคยมีมาก่อน

อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้อาจไม่ได้บ่งชี้ถึงมะเร็งดังกล่าวเสมอไป ซึ่งโดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีอาการผิดปกติเรื้อรังและทรุดลงเรื่อยๆ หากพบว่ามีอาการผิดปกตินานเกิน 2 สัปดาห์ ควรรีบปรึกษาแพทย์ 

การป้องกันโรคมะเร็ง ทั้ง 5 อันดับ ที่พบบ่อยในคนไทย สำหรับ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากมะเร็ง เกิดจากการมีพฤติกรรมทางด้านสุขภาพที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ไม่สูบบุหรี่และดื่มสุรา ไม่รับประทานปลาน้ําจืดดิบ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร จําพวกเนื้อแดง เนื้อแปรรูป และอาหารปิ้งย่างไหม้เกรียม รวมถึงสวมเครื่องป้องกันหากต้องสัมผัสกับสารก่อมะเร็ง จากการประกอบอาชีพ การปรับพฤติกรรมเหล่านี้จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งลงได้ มะเร็งบางชนิดสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน เช่น การฉีดวัคซีนเอชพีวีป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก การฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี ป้องกันมะเร็งตับชนิด hepatocellular carcinoma และ โรคมะเร็งบางชนิดสามารถตรวจคัดกรองเพื่อให้พบโรคในระยะก่อนเป็นมะเร็ง หรือตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มแรก ซึ่งลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ทําให้การรักษาได้ผลดี

มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยืนยันแน่ชัดว่าการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งได้ โดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งลําไส้ใหญ่และไส้ตรง ที่พบบ่อยในประเทศไทย ปัจจุบันวิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก โดยเฉพาะการรับประทานอาหาร เช่น อาหารปิ้งๆ ย่างๆ เนื้อแดง และเนื้อสัตว์แปรรูป รวมถึงอาหารฟาสต์ฟู้ดต่างๆ ได้รับความนิยมมากขึ้น อาหารเหล่านี้ถือเป็นสาเหตุนํามาสู่ภาวะอ้วน น้ําหนักเกิน และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม มะเร็งลําไส้ใหญ่และไส้ตรง ที่มีแนวโน้มอุบัติการณ์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผู้เขียน : กนก โฆษกสุขภาพ ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์

Smartnews เผยแพร่ 21 สิงหาคม 2563