สื่อมวลชน ฐานสำคัญ ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่

คอลัมน์ : จับกระแส

สื่อมวลชน ฐานสำคัญ ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่

ด้วยศักยภาพสื่อมวลชน ผู้ซึ่งเป็นกระบอกเสียง เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสื่อสารข่าวสารข้อมูลที่เป็นความจริง ต่อสาธารณชนได้อย่างกว้างขวางและน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะเรื่องของการรณรงค์บุหรี่ และเชื่อมความสัมพันธ์อันดีกับผู้มีบทบาทหน้าที่ในการขับเคลื่อนนโยบายในท้องถิ่นได้ดีเยี่ยม จากประสบการณ์ที่มูลนิธิรณรงค๋์ฯ ได้จัดอบรมสื่อมวลชนมาหลายต่อหลายรุ่น ทั้งสื่อภาครัฐและเอกชน ทำให้การขับเคลื่อนงานในท้องถิ่นเป็นไปได้อย่างต่อเนื่องและมีความเข้มแข็งย่ิ่งขึ้น

 

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เห็นถึงความสำคัญจึงได้มีการขยายฐานสื่อมวลชนเพิ่มขึ้น และได้จัดให้มีการสัมมานาสื่อมวลชนท้องถิ่น ในอีก 26 จังหวัดทั่วประเทศ มีสื่อมวลชนเข้าร่วม จำนวน 50 ท่าน เพื่อมารับทราบข้อมูลและสถานการณ์การสูบบุหรี่ในประเทศไทยในปัจจุบัน และจะได้ช่วยกันระดมความคิดว่า "จะร่วมกันสร้างสังคมปลอดบุหรี่ได้อย่างไร?" ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต ระหว่างวันที่ 14-15 กันยายน ที่ผ่านมา

 

ในการสัมมนา 1 วันครึ่งนี้ สื่อจะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การสูบบุหรี่ในภารรวมของประเทศไทยและในรายจังหวัด ได้รู้ถึงกฎหมายการควบคุมยาสูบใหม่ที่เป็นเรื่องใกล้ตัว สามารถเป็นหูเป็นตาในการเฝ้าระวังการละเมิดกฎหมายได้ และกับข้อคำถามที่ว่า ทำไม! ต้องควบคุมการบริโภคยาสูบ พร้อมกันนี้จะได้ช่วยกันระดมความคิด ไอเดีย ในฐานะบทบาทของสื่อมวลชนว่าจะกลับไปทำงานเรื่องควบคุมยาสูบได้อย่างไร ซึ่งในการทำงานก็จะมีมูลนิธิรณรงค์เป็นพี่เลี้ยงที่พร้อมจะสนับสนุนในทุกๆ ด้าน ท่านจะไม่ได้ทำงานอย่างโดดเดี่ยวอย่างแน่นอน

โดยมีวิทยากร ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมุลนิธิฯ คุณบังอร ฤทธิภักดี เลขาธิการมูลนิธิฯ คุณแสงเดือน สุวรรณรัศมี ผู้จัดการมูลนิธิฯ ผศ.ดร.ศรัณญา เบญจกุล อาจารย์จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล คุณจิระวัฒน์ อยู่สะบาย ผู้ช่วยผู้อำนวยการกองงานยาสูบ กระทรวงสาธารณสุข มาร่วมบรรยายและให้ความรู้ในเรื่องของการควบคุมยาสูบในประเทศไทย

และที่ขาดไม่ได้คือ เรามีบทเรียนที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนการขับเคลื่อนงานรณรงค์ในจังหวัดของตนเองจากรุ่นพี่สื่อมวลชนคุณคชณมาศ มณีอัญญะเฟื่องฟู จากเครือข่ายสื่อมวลชนขอนแก่น คุณเขมวันต์ เหมราช จากเครือข่ายสื่อมวลชนภูเก็ต มาเล่าถึงปัญหาและอุปสรรคที่เจอกับผลของงานที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ เกิดแรงบันดาลใจทำให้อยากทำงานรณรงค์นี้ต่อไป ....

ทั้งนี้จากการระดมความคิด ไอเดียที่หลังจากวันนี้ สื่อมวลชนรุ่นนี้จะกลับไปทำใน 3 ประเด็นคือ

1.บ้านปลอดบุหรี่ : ทุกคนเข้าใจร่วมกันว่า คำว่าบ้านปลอดบุหรี่คือ การที่คนที่สูบบุหรี่ไม่สูบในบ้าน เพื่อสุขภาพของคนที่อยู่ในบ้าน จะไม่ได้รับควันบุหรี่มือสองและมือสาม

- จะได้นำข้อมูลที่ได้รับเป็นข้อมูลสนับสนุนในการสื่อสารการรณรงค์ผ่านช่องทางสื่อที่รับผิดชอบ โดยใช้กลยุทธ์วิธี เน้น ย้ำ ซ๋ำๆ บ่อยๆ รวมถึงการนำเอากลุ่มเป้าหมายเข้ามามีส่วนร่วม เช่น สัมภาษณ์สด โฟนอินเข้ารายการ เป็นต้น

2.สถานที่สาธารณะปลอดบุหรี่ : คือการเฝ้าระวังและให้ความรู้กับร้านค้า และคนในชุมชนเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ การห้ามซื้อ และร้านค้าห้ามขาย ให้กับเด็กและเยาวชน

- สร้างความเข้าใจเรื่องการสูบบุหรี่ในท่ี่ห้ามสูบตามกฎหมาย ระหว่างสถานประกอบการ กับผู้ใช้บริการ เช่น โรงแรม เป็นต้น มีการสื่อสารความรู้ในเรื่องกฎหมายสถานที่สาธารณะ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ควบคู่กัน โดยเฉพาะสื่อวิทยุชุมชนทีีมีความใกล้ชิดกับชุมชนก็มีความสำคัญในการสร้างการรับรู้ได้เป็นอย่างดี

3.การป้องกันไม่ให้เยาวชนสูบบุหรี่ : ในบทบาทของสื่อ จะใช้เทคโนโลยีทางโซเชียลมีเดีย ที่มีหลากหลายช่องทาง ที่ทุกคนใช้ในชีวิตประจำวัน วิทยุชุมชนยังคงมีความสำคัญ สามารถหยิบประเด็นกระแสสังคมนำมาพูดคุยเพื่อสร้างกระแสในบริบทของท้องถิ่นนั้นๆ

นี่คือ บทบาทสำคัญในฐานะสื่อมวลชน กับช่องทางสื่อสารเรื่องงานควบคุมยาสูบได้อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมที่สุด มูลนิธิรณรงค์ฯ ต้องขอบคุณสื่อมวลชนทุกท่านที่ร่วมกันสร้างสังคมปลอดบุหรี่เพื่อคนไทย เพื่อลูกหลานของพวกเรา .....และมีจะมีรุ่นต่อๆ ไปอย่างแน่นอน

ข้อมูล Smartnews เผยแพร่ 16 กันยายน 2563