ผู้นำสื่อนักขับเคลื่อนนโยบายด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบ รุ่น 2

คอลัมน์ : จับกระแส

ยกระดับสื่อมวลชน

สู่นักขับเคลื่อนนโยบายด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบ

          ณ โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ระหว่างวันที่ 28-30 กันยายน 2563 มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้จัดให้มีการอบรม "ผู้นำสื่อนักขับเคลื่อนนโยบายการควบคุมการบริโภคยาสูบ รุ่นที่ 2 โดยมีเครือข่ายสื่อจาก 14 จังหวัด (จังหวัดละ 2 คน) ทั้งหมด 28 คน เพื่อมาร่วมกันคิดวางแผนการรณรงค์ให้สามารถกลับไปขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่จังหวัดของตนเอง

                                      

        14 จังหวัด มีกาญจนบุรี อุบลราชธานี สตูล กระบี่ อุดรธานี สุราษฎร์ธานี นราธิวาส ระยอง ชุมพร เชียงราย พิษณุโลก นครนายก พังงา ชัยนาท โดยมีวิทยากรผู้คร่ำหวดในวงการรณรงค์ มาร่วมเพิ่มเติมความรู้ในเรื่องของ ทำไม! ต้องควบคุมการบริโภคยาสูบ/ความเป็นนัก Advocate โดยคุณบังอร ฤทธิภักดี ผู้อำนวยการศูนย์ธรรมมภิบาลในการควบคุมยาสูบ วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (GGTC) สถานการณ์ควบคุมการบริโภคยาสูบของประเทศไทย โดย ผศ.ดร.ศรัณญา เบญจกุล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล การทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 โดยนายอดิศักดิ์ พุ่มทอง กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย กับ 9 คำถามเครื่องมือในการผลักดันนโยบายสำหรับการเป็นนัก Advocate 

                                                                              

                                       

           และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากรุ่นที่ 1 เล่าถึงบทเรียนการดำเนินงานการเป็นนักขับเคลื่อนนโยบาย ที่ได้ลงไปขับเคลื่อนจริงในพื้นที่ระหว่างทางพบเจอปัญหาและอุปสรรค์ แต่ก็สามารถแก้ไขปัญหาจนประสบความสำเร็จใน 3 พื้นที่ คือ คุณธนัยนันท์ พัฒน์จิรวัชร กับโครงการถนนคนเดินและคนม่วนปลอดบุหรี่ จังหวัดเชียงราย คุณนนท์วิธ แก้วนุ่ม จากโครงการจุดจอดรถ รับ- ส่ง ผู้โดยสาร จังหวัดพัทลุง และคุณคชณมาศ มณีอัญญะเฟื่องฟู จากโครงการวัดในจังหวัดขอนแก่นปลอดบุหรี่ 100% จังหวัดขอนแก่น โดยมีคุณแสงเดือน สุวรรณรัศมี ผู้จัดการมูลนิธิรณรงค์ฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ

                                        

         หลังจากที่ฟังบทเรียนจากรุ่นพี่ แล้ว ทุกจังหวัดจะได้ร่วมกันคิดวางแผนโครงการมานำเสนอพร้อมกับข้อเสนอแนะจากคณะอาจารย์ เพื่อนำไปปรับใช้ให้เกิดขึ้นและเป็นได้จริงในพื้นที่ ดังนี้

กาญจนบุรี : โครงการ “ห้วยกระเจาปลอดบุหรี่" โดยการดึงแนวร่วมกับท่านนายอำเภอ เจ้าอาวาส อสม. และเด็ก Gen Z แล้วมีการประกาศเป็นธรรมนูญชุมชนในอำเภอห้วยกระเจา

ชัยนาท : โครงการ “ใจสะอาด วัดสะอาดชัยนาทปลอดภัยจากควันบุหรี่" โดยมีเป้าหมายวัดต้องจัดสภาพแวดล้อมต่อการลด ละ เลิกบุหรี่ เกิดวัดต้นแบบในจังหวัดปลอดบุหรี่ มีข้อบัญญัติและมีการออกคำสั่งจากเจ้าคณะจังหวัดร่วมกับสำนักพุทธ จัดกิจกรมรณรงค์สอดแทรกเข้าไปกับเวันสำคัญทางพุทธศาสนา

นราธิวาส : โครงการ "ตลาดน้ำยะกัง ขนม 100 ปี (เขตปลอดควันบุหรี่)" กลุ่มเป้าหมายคือผู้ค้าและผู้มาใช้บริการในตลาดซึ่งเป็นตลาดนวัตวิถีของจังหวัด กำหนดให้มีข้อบัญญัติของตลาดน้ำยะกัง ขนม 100 ปีเป็นเขตปลอดบุหรี่ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ปลอดภัยไร้ควันบุหรี่ จะจัดประชุมเข้าปรึกษานายกเทศมนตรีเมืองนราธิวาส ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ให้มารับทราบร่วมกัน และจะมีการประเมินผลก่อนและหลังทำโครงการ เพื่อจะได้นำมาพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน

สุราษฎร์ : โครงการ "สถานศึกษาในอำเภอนาสารปลอดบุหรี่" วัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กโตขึ้นเป็นคนดีของสังคม ห่างไกลบุหรี่ ซึ่งเป็นประตูสู่สิ่งเสพติดชนิดร้ายแรง เป้าหมายของโครงการคือ ทำสถานศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษา  4 แห่งในอำเภอนาสาน เป็นต้นแบบปลอดบุหรี่ นำร่องปลอดบุหรี่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อแก้ปัญหาเด็กสูบบุหรี่ในโรงเรียน ลดนักสูบและป้องกันนักสูบหน้าใหม่ กำหนดเป็นข้อบัญญัติ ทั้งสามกลุ่ม คือครู บุคลากร นักเรียน

นครนายก : โครงการ "สร้างร้านค้าคุณธรรมในชุมชนให้แข้มแข็ง (ป้องกันการเข้าถึงและสกัดนักสูบหน้าใหม่)" เพื่อให้มีนโยบายและข้อบัญญัติระดับหมู่บ้าน เรื่องร้านโชห่วยในชุมชนไม่ขายบุหรี่ สร้างการมีส่วนร่วมของร้านค้า เด็กที่อายุต่ำกว่า 20 ปี เชิญเครือข่ายมาร่วมประชุมและจัดตั้งคณะกรรมการให้มาร่วมเป็นคณะทำงานและร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน

พังงา : โครงการ “โคกลอยรักสุขภาพปลอดบุหรี่” เพื่อให้เป็นลานกีฬา ลานสาธารณะ ในอำเภอโคกลอยปลอดบุหรี่ โดยขอความร่วมมือองค์การบริหารส่วนตำบลโคกลอย เพื่อออกข้อบัญญัติบังคับใช้ลานกีฬา สนามกีฬาในหมู่บ้านต้องปลอดบุหรี่เด็ดขาด มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังโดยจะได้ขอความร่วมมือกับนายกเทศมนตรี สถานีตำรวจ อสม. ร่วมขับเคลื่อน

อุดรธานี : โครงการ "แหล่งโบราณคดี มรดกโลกบ้านเชียงปลอดบุหรี่" เพื่อให้มีเทศบัญญัติควบคุมการบริโภคยาสูบในแหล่งโบราณคดีซึ่งเป็นมรดกโลกประกาศอย่างชัดเจน และในชุมชนตำบลบ้านเชียงให้เกิดเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่แบบยั่งยืน เน้นประเด็นกฏหมาย สร้างพื้นที่ปลอดบุหรี่เป็นจุดสำคัญๆ

พิษณุโลก : โครงการ "กองบิน 46 ปลอดภัยไร้ควันบุหรี่" เพื่อให้มีนโยบายข้อบัญญัติ คำสั่งการบินให้กองบิน 46 ปลอดบุหรี่ ต้องการให้ร้านค้าในกองบินไม่ขายบุหรี่ และจัดสถานที่ในกองบินให้ปลอดบุหรี่ มีป้ายติดสถานที่ราชการปลอดบุหรี่อย่างชัดเจน เชิญชวนข้าราชการพลเรือนในกองบินให้เลิกบุหรี่ ทำบ้านให้ปลอดบุหรี่ พร้อมการให้บริการช่วยเลิกในกองบิน เพื่อสุขภาพของคนในกองบินและที่บ้าน

ชุมพร : โครงการ "เที่ยว OTOP แบบไร้ควันบุหรี่ ทั้งมันส์ ทั้งหรอย" มีข้อบัญญัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศให้โอทอปชุมชนใน 10 แหล่งท่องเที่ยวไร้ควันบุหรี่" เพื่อเป็นการปกป้องนักท่องเทียวให้ปลอดภัยจากควันบุหรี่

เชียงราย : โครงการ "ตลาดล้าน ปลอดบุหรี่ สุขภาพดี๊ดี ปลอดบุหรี่ทั้งตลาด" ตลาดล้านมีพื้นที่กว่า 160 ไร่ เป็นศูนย์กลางตลาดค้าส่งผักและผลไม้ ของจังหวัดเชียงราย เพื่อให้มีข้อบัญญัติจำกัดพื้นที่สูบบุหรี่ในตลาดล้าน ประกาศให้ตลาดล้านปลอดบุหรี่ เพื่อเป็นการลดจำนวนผู้สูบ และเพื่อสุขภาพของผู้มาใช้บริการ จัดให้มีการทำ MOU ระหว่างเจ้าของตลาด สื่อมวลชน นายกเทศมนตรี ร่วมทำข้อตกลงร่วมกัน

กระบี่ : โครงการ "อาชีวะเทรนด์ใหม่ ห่างไกลบุหรี่ (Change A-Cheewa)" เพื่อให้มีนโยบายที่ชัดเจนในโรงเรียนอาชีวะ ซึ่งมีทั้งหมด 5 แห่ง ในอำเภอคลองท่อม มีนโยบายขององค์กรให้ชัดเจนเรื่องห้ามสูบบุหรี่ในสถานศึกษา การสร้างจิตสำนึกในการใส่ใจสุขภาพ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งในและนอกสถาบัน ดึงให้เด็กมีส่วนร่วม ตั้งเป็น ชมรมเทรนด์ใหม่อาชีวะปลอดบุหรี่ ให้เด็กรู้สึกภูมิใจ และให้เด็กอาชีวะทำความเข้าใจถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า

ระยอง : โครงการ "จับมือโชว์ห่วยระยอง โชว์สวยไม่ขายบุหรี่ให้เด็ก" มีการเฝ้าระวังการห้ามร้านค้าไม่ขายบุหรี่ในเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ในเขตเทศบาลตำบลบ้านฉาง ทั้ง 6 ตำบลใน อ.บ้านฉาง โชว์ร้านโชว์ห่วยนำร่องที่ร่วม เพื่อเป็นต้นแบบ มีคณะกรรมการทั้งโชว์ห่วย เด็ก และกรมสรรพสามิต และจัดกิจกรรมทำความเข้าใจร่วมกับสภาเด็ก

อุบล : โครงการ "เทศบาลต้นแบบ ร้านค้าร่วมใจ ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ" ให้นายกเทศมนตรี ออกเทศบัญญัติหรือข้อปฏิบัติสำหรับร้านค้า ที่กระทำผิดความผิดต่อ พ.ร.บ.ในเรื่องการซื้อขายบุหรี่ให้กับผู้ที่มีอายุไม่ถึงตามที่กฎหมายบังคับ และประกาศให้  28 ชุมชน ในอำเภอวารินชำราบ ในจังหวัดปลอดบุหรี่

                                      

      จากการนำเสนอโครงการและได้รับข้อเสนอแนะจากคณะอาจารย์ ทั้ง 14 โครงการ หากการขับเคลื่อนได้เป็นรูปธรรม สังคมเล็กๆ ในจังหวัดจะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ให้สังคมประเทศไทยปลอดบุหรี่ มีความคืบหน้าอย่างไร ทาง Smartnews จะได้นำเสนอต่อไปค่ะ 

ข้อมูลโดย : สุขสันต์ เสลานนท์

Smartnews เผยแพร่ 2 ตุลาคม 2563